“จิก-ประภาส” ฝันอยากทำการ์ตูนมากกว่า 10 ปีแท็คทีม “เอ็กซ์-ชัยพร” แอนิเมเตอร์ไทยชนะเลิศ SIGGRAPH ประเดิมทำ “ยักษ์” ยอมทุ่มเวลา 6 ปี

อังคาร ๐๔ กันยายน ๒๐๑๒ ๑๖:๔๔
เริ่มเห็นสีสันหน้าตาตัวคาแรคเตอร์น่ารักน่าชัง ของการ์ตูนแต่ละตัวกันบ้างแล้วสำหรับ “ยักษ์” ภาพยนตร์แอนิเมชั่นฟอร์มโตสมชื่อที่ทาง บ.สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนลจับมือร่วมกับ บ้านอิทธิฤทธิ์,ซูเปอร์จิ๋วและเวิร์คพอยท์ พิคเจอร์ส 3 พันธมิตร ทุ่มทุนสร้างกว่า 100 ล้านบาท ร่วมกันเนรมิตรจากไอเดียที่กลั่นออกมาจากสมองและสองมือกำกับของ “จิก ประภาส ชลศรานนท์” ที่คิดฝันอยากทำการ์ตูนมากว่า 10 ปี แต่ติดปัญหาเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือในยุคนั้นรวมไปถึงแอนิเมเตอร์มือดีที่จะมาถ่ายทอดตัวหนังสือให้โลดแล่นเป็นภาพจนกระทั่งมาเจอกับเอ็กซ์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์แอนิเมเตอร์ไทยฝีมือระดับแชมป์จนตัดสินใจเปิดบ.บ้านอิทธิฤทธิ์เพื่อผลิตงานแอนิเมชั่นโดยตรง

“เรื่องการทำการ์ตูนแอนิเมชั่นเป็นสิ่งที่อยากทำมามากกว่าสิบปีแล้ว แต่ตอนนั้นยังหามือคู่ใจไม่ได้ และโดยเทคนิควิธีการในขั้นตอนพอเราได้เข้าไปศึกษาจริงจังรู้ว่าต้องใช้เงินเยอะมาก และต้องใช้ทีมงานในต่างประเทศด้วย เพราะถ้าพึ่งคนเขียนคนวาดแค่ในไทยมันไม่พอ ที่ผ่านมาเลยยังไม่ได้ทำแต่ก็ศึกษาข้อมูลมาตลอด จนกระทั่งวันหนึ่งได้เจอเอ็กซ์ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ (ดีกรีชนะเลิศ FIRST PRIZE:SIGGRAPH 1998 ซึ่งเปรียบได้กับรางวัลออสการ์สำหรับนักศึกษา การประกวดผลงานแอนิเมชั่น ประเภทนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก) ซึ่งเพิ่งกลับมาจากอเมริกาใหม่ๆ แล้วตอนนั้นเทคโนโลยีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการทำแอนิเมชั่นพัฒนาไปไกล แล้วก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คิดว่าโอกาสที่จะได้ทำการ์ตูนเริ่มจะมีความเป็นไปได้ และเป็นที่มาที่ทำให้ตัดสินใจเปิดบริษัทบ้านอิทธิฤทธิ์ขึ้นพร้อมกับโปรเจ็คต์ที่จะทำการ์ตูนแอนิเมชั่น”

และเพื่อให้โปรเจ็คต์แอนิเมชั่นยักษ์ออกมายิ่งใหญ่สมความตั้งใจของจิกประภาสที่คิดฝันมาตลอดชีวิตตามแนวทางและมาตรฐานที่วางไว้ การหยิบเอาตัวละครคลาสสิคในมหากาพย์รามายณะอย่าง ทศกัณฐ์, หนุมาน, กุมภกรรณ, ราม, สดายุ ฯลฯ ถูกนำมาตีความใหม่ในโลกของหุ่นยนต์ (รูปลักษณ์ของหุ่นยนต์ยักษ์ และหุ่นยนต์กระป๋องที่) ผ่านการดีไซน์ใหม่ภายใต้ลายเส้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ เอ็กซ์-ชัยพร ไปจนถึงการเนรมิตฉากใหญ่อลังการนับ 10 ฉากรวมไปถึงตัวละครอื่นๆนับร้อยนับพันตัว ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวการผจญภัยที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานขณะเดียวกันก็ลึกซึ้งกินใจตามสไตล์ของงานเขียนในแบบประภาส ชลศรานนท์ที่พิถีพิถัน และให้ความสำคัญกับตัวบทภาพยนตร์เป็นพิเศษ โดยเฉพาะอยางยิ่งเราจะได้เห็นฉากมิวสิคคัลที่ตัวการ์ตูนต้องร้องเพลงในฉาก ฯลฯ และอื่นๆ อีกมากมายฯลฯ ซึ่งส่งผลให้ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นยักษ์ใช้เวลาถึง 6 ปี ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานปกติของแอนิเมชั่นระดับโลก

“ปกติแอนิเมชั่นเรื่องหนึ่งจะใช้เวลาประมาณนี้อยู่แล้วครับ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนของ Pixar เองก็ใช้เวลาประมาณนี้ 5-7 ปี เพราะว่ามันเป็นแอนิเมชั่น พอพี่จิกมาชวนทำก็ไม่ได้ตกใจเลยนะเตรียมใจแล้วมากกว่า หนังแอนิเมชั่น 2D บางเรื่องใช้เวลานานถึงสิบปีก็มี แต่ผมไม่ได้กังวลนะเพราะว่ามันเป็นหุ่นยนต์ ทิศทางในการทำเรามีชัดเจนอยู่แล้ว หกปีนี้ก็จะมีช่วงที่ต้องพัฒนาเรื่องต่างๆ ควบคู่ไปด้วย ทั้งเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์, แอนิเมเตอร์ที่จะรับมาทำก็ต้องดูฝีมือกันก่อนว่าทำไว้ได้อย่างที่เราวางแผนไว้หรือไม่ และก็ทำบทด้วยทำควบคู่กันไป”

เป็นความรู้สึกของเอ็กซ์ ชัยพร ซึ่งรับผิดชอบในส่วนของผู้กำกับแอนิเมชั่นและเป็นผู้กำกับร่วมในโปรเจ็คต์ยักษ์คู่กับเจ้าของไอเดียอย่าง จิก ประภาส ที่มีส่วนสำคัญให้ “ยักษ์” กลายเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นเต็มรูปแบบที่เสร็จสมบูรณ์ในท้ายที่สุด ในขณะที่ พาณิชย์ สดสี ผู้ควบคุมงานสร้างแอนิเมชั่นยักษ์ที่ผ่านการทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ในฐานะมันสมองระดับหัวกะทิ คู่กับจิกประภาสมากว่า 2 ทศวรรษในส่วนของรายการทั้งหมดในนามของบ.เวิร์คพอยท์เอนเทอร์เทนเมนท์ และเป็นหัวเรือใหญ่ของ “เวิร์คพอยท์ พิคเจอร์ส” ที่ร่วมดำเนินงานสร้างในโปรเจ็คต์ยักษ์ ซึ่งรู้แนวคิดสไตล์และวิธีการทำงานตลอดจนวิสัยทัศน์ของผู้ให้กำเนิดยักษ์ได้เป็นอย่างดีขยายความให้ได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นในเหตุผลที่ตอกย้ำถึงมาตรฐานการทำงานในแบบประภาส ชลศรานนท์เพื่อให้ผลงานออกมาสมกับความอลังการของโปรเจ็คต์

“ต้องบอกว่าพี่จิกเองแกมีมาตรฐานสูงมากๆ ขนาดลองอะไรไปเยอะคิดว่ามันดีแล้ว แต่พอวันหนึ่งแกคิดอะไรได้ใหม่ขึ้นมาอีก แกเปลี่ยนแกรื้อทิ้งดื้อๆ จะบอกว่าแกมีความต้องการที่ชัดเจน ลองก็ส่วนลอง พอได้สิ่งๆ นั้นมาแล้วมันไม่ใช่แกยอมทิ้งเวลาเป็นปีเพื่อสร้างใหม่ที่คิดว่ามันใช่ที่สุดในความคิดของแก แกไม่ยอมเอาสิ่งที่คิดว่าไม่ใช่ไว้ในหนังเลย ซึ่งจะบอกว่ามันก็ยากในหลายๆ อันจะบอกว่ามันทิ้งอะไรไปเยอะ ไอ้ที่ทิ้งดีนะไม่ใช่ไม่ดีแต่ไม่ตรงกับสิ่งที่แกคิด เราเห็นในความพยายามของแกคือต้องคนพลังเยอะมาก ต้องไม่เสียดายด้วย ยกตัวอย่างมีอยู่ฉากหนึ่งมิวสิคคัลเลย เป็นฉากร้องเพลงประมาณว่าหุ่นยักษ์ถูกขุดขึ้นมา ชาวเมืองร้องเพลงกัน เป็นฉากที่ทำโพรเซสนาน ร้องเพลงคอมโพสต์เพลงทำมา เขียนแอนิเมทตัดต่อเสร็จดีมากเลย เป็นใครใครก็ชอบ แต่ในหนังไม่มีนะ แกทิ้งแกว่าไม่ใช่ มันเยอะไปมารื่นเริงอะไรตอนนี้ ซีนนั้นถ้าดูเป็นตอนๆ ดีมากเลย สนุกด้วย แต่ถ้ามาอยู่ในหนังในความคิดของพี่จิกแกคิดว่าเยอะไป มันทำให้เรื่องอืด แล้วแค่ฉากนี้ฉากเดียวนะเขียนกันอยู่หกเจ็ดเดือนนะ ไม่ใช่น้อยๆ มันเป็นซีนยาว เป็นแบบ CROWD SCENE เขียนเมืองทั้งเมือง คนเขียนแอนิเมชั่นทั้งเมืองตัวประกอบโมเดลเป็นร้อย โอ้โหมันน่าเสียดาย เราคิดว่าถ้าเป็นหนังคนคงประมาณซีนสงครามหรือซีนร้องเพลงที่คนทั้งเมืองลุกขึ้นมาเต้นนะ แล้วกล้องเลื้อยไปเลื้อยมาและโปรดักชั่นใหญ่มาก ในที่สุดไม่เอา”

และเมื่อได้เห็นภาพตัวอย่างฉบับเต็มของยักษ์ที่กำลังอาละวาดอยู่ในโรงภาพยนตร์ขณะนี้ก็ไม่รู้สึกแปลกใจแต่อย่างใดว่าทำไมถึงใช้เวลา 6 ปี ตอนนี้พูดได้คำเดียวว่าอยากดูใจจะขาด 4 ต.ค.นี้ ยักษ์กันทุกโรงภาพยนตร์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๐ ม.ค. ซีอีโอธุรกิจธนาคารเดิมพันกับเทคโนโลยีเกิดใหม่แม้มีช่องว่างทางทักษะ
๑๐ ม.ค. เครียดจริงหรือแค่คิดไปเอง? เช็คระดับความเครียดของคุณใน 5 นาที
๑๐ ม.ค. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จัดงาน Agency Kick off 2025 รวมพลังฝ่ายขาย มุ่งสู่ความเป็นเลิศในทุกด้าน
๑๐ ม.ค. ซัมซุง ปล่อยทีเซอร์เล่นใหญ่รับต้นปี เตรียมพบ Galaxy AI ผู้ช่วยส่วนตัวคนใหม่
๑๐ ม.ค. ซัมซุง ดึง แม่ชม พร้อมด้วย พี่จอง-คัลแลน ปล่อยทีเซอร์เล่นใหญ่รับต้นปี เตรียมพบ Galaxy AI ผู้ช่วยส่วนตัวคนใหม่
๑๐ ม.ค. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ขยายพื้นที่ บรรเทาทุกข์ มอบไออุ่น แก่ผู้ประสบภัยหนาวในถิ่นทุรกันดารพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และชัยนาท รวมมูลค่ากว่า 8
๑๐ ม.ค. ร่วมสำรวจอนาคตธุรกิจโลจิสติกส์ไทยในงานสัมมนาออนไลน์ฟรี!
๑๐ ม.ค. ปีใหม่จะไม่โสด! Tinder เผยอาทิตย์แรกเดือน ม.ค. ปัดขวาคึกคักที่สุด
๑๐ ม.ค. MPJ แย้มข่าวดีรับปีใหม่ รุกขยายลานตู้ที่ศรีราชาครั้งใหญ่ คาดเพิ่มรายได้ลานตู้ 52%
๑๐ ม.ค. COVERMARK จัด Precious Bright Promotion ต้อนรับลูกค้าใหม่