นอกจากนี้ยังได้มีการศึกษาดูงาน พิพิธภัณฑ์คลองชองเกชอน (Cheong Gye Cheon Museum) ที่สะท้อนภาพความรักชาติและความร่วมมือในการสานสัมพันธ์เพื่อพัฒนาชาติไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาสายน้ำที่มีสภาพสกปรกและเน่าเหม็นในอดีต ให้กลายเป็นคลองที่ใสสะอาดในปัจจุบัน โดยโครงการนี้ใช้เวลา 2 ปี 3 เดือนกับกระบวนการภาคประชาสังคม สร้างการมีส่วนร่วมโดยจัดประชุมมากกว่า 4,000 ครั้งกับผู้ได้รับผลกระทบในการก่อสร้างฟื้นฟูคลองหลายแสนคน และการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนตั้งแต่เด็กถึงผู้อาวุโสได้มีส่วนร่วมให้ความคิดในการออกแบบคลอง อันนำมาสู่ความรู้สึกเป็นเจ้าของคลองอันเป็นสายเลือดหลักของกรุงโซลมาแต่โบราณนี้อย่างแท้จริง
สำหรับความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากประเทศเกาหลีใต้ในครั้งนี้ เป็นความรู้ที่คณะทำงานภายใต้ความร่วมมือ 4 ฝ่ายสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทยได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการวางแผนการทำงานด้าน ICT เพื่อเด็กด้อยโอกาสผ่านทุนและเครือข่ายการทำงานที่มีอยู่แล้ว อาทิ เครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนของกระทรวงฯ ในการพัฒนาและกระจายสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพไปสู่เด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น
“นอกเหนือจากประสบการณ์ที่ได้รับแล้ว การศึกษาดูงานในครั้งนี้ยังได้สร้างแรงบันดาลใจร่วมกันในการผลักดันงานด้าน ICT เพื่อเด็กด้อยโอกาสให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยปัจจัยความสำเร็จนั้นอยู่ที่การวางเป้าหมายทุกระยะอย่างชัดเจน ความร่วมมือกันอย่างดีและมีทัศนคติทางบวกต่อกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่จะทำให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานบนฐานทุนการทำงานที่แต่ละฝ่ายมีอยู่แล้ว อันจะทำให้งานทั้งหมดก้าวข้ามข้อจำกัดและดำเนินไปสู่เป้าหมายที่ทุกฝ่ายมีร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นางจีราวรรณ กล่าว