กรมป่าไม้นำปลูกป่าตามหลักวิชาการ ในโครงการปลูกป่าประชาอาสา 800 ล้านกล้า 80 พรรษา มหาราชินีสมานสามัคคีของพี่น้องชาวไทย

จันทร์ ๑๐ กันยายน ๒๐๑๒ ๑๔:๔๖
กรมป่าไม้จัดโครงการปลูกป่าประชาอาสา 800 ล้านกล้า 80 พรรษา มหาราชินี บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ข้าวต้มและป่าห้วยลึก บ้านแม่ข้าวต้มท่าสุด หมู่ที่ 10 ตำบลท่าสุด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 10 กันยายน 55 ที่ผ่านมา

นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า รัฐบาลได้เห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงมหาดไทย จัดทำ “โครงการประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้า 80 พรรษา มหาราชินี” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555 โดยเชิญชวนองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมกันปลูกป่าเพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในปีแรกกรมป่าไม้สนับสนุนกล้าไม้จำนวน 16 ล้านกล้า ดำเนินการปลูกป่าในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ ได้เปิดตัวโครงการฯ พร้อมกันในวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมาเพื่อเป็นการสนองนโยบายรัฐบาล กรมป่าไม้จึงได้จัดทำโครงการประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้า 80 พรรษา มหาราชินี โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ คือ การปลูกป่าฟื้นฟูสภาพป่า การสร้างฝายต้นน้ำลำธาร และการปลูกหญ้าแฝก โดยดำเนินการตามหลักวิชาการทุกขั้นตอน เพื่อเป็นแปลงตัวอย่างให้แก่องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทุกภาคส่วน ใช้เป็นที่ศึกษาดูงาน และนำหลักและวิธีการปลูกป่าไปประยุกต์ใช้ในแต่ละพื้นที่ต่อไป

พื้นที่ที่ดำเนินการปลูกป่า เดิมมีชาวเขาเผ่ามูเซ่อ จำนวน 23 ครอบครัวอาศัยอยู่ ต่อมาแกนนำชาวบ้านหมู่ที่ 10 ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ร่วมกันพิจารณาหารือว่าชาวเขาเผ่ามูเซ่อที่อาศัยอยู่บริเวณต้นน้ำได้ทำการเกษตรโดยใช้สารเคมีเป็นเหตุให้น้ำเสียไม่สามารถนำมาบริโภคได้ จึงได้รวมตัวกันกดดันให้ชาวเขาเผ่ามูเซ่อออกจากพื้นที่ด้านบน โดยให้มาอาศัยทำกินที่บริเวณด้านล่าง พร้อมทั้งจัดสรรพื้นที่ให้ทำกินครอบครัวละ 50 ตารางวา ทั้งนี้ แกนนำชาวบ้านได้ขอให้กรมป่าไม้ช่วยดำเนินการปลูกป่า เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรม และสร้างฝายต้นน้ำลำธาร เพื่อเป็นแหล่งน้ำให้กับชาวบ้านแม่ข้าวต้มท่าสุด หมู่ที่ 10 จังหวัดเชียงราย

กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นในวันที่ 10 กันยายน 2555 บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ข้าวต้มและป่าห้วยลึก บ้านแม่ข้าวต้มท่าสุด หมู่ที่ 10 ตำบลท่าสุด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยดำเนินการปลูกป่า จำนวน 80 ไร่ ตามแนวพระราชดำริปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง ประกอบด้วยไม้โตเร็ว และโตช้า 11 ชนิด ได้แก่ไม้ยางนา ตะเคียนทอง กระบาก มะขามป้อม พะยอม ยมหิน ประดู่กิ่งอ่อน มะฮอกกานี แดง หว้า และสารภีไทยนอกนั้นได้ทำการสร้างฝายจำนวน 8 ฝาย ประกอบด้วย ฝายต้นน้ำแบบถาวร 1 ฝาย ฝายแบบกึ่งถาวร 2 ฝาย

และฝายแบบคลุมหินทิ้ง 5 ฝาย โดยในการก่อสร้างฝายแต่ละประเภทจะต้องให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่จะก่อสร้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งปลูกหญ้าแฝกจำนวน 16,000 กล้า ซึ่งการดำเนินการปลูกป่า สร้างฝาย และปลูกแฝกในครั้งนี้ กรมป่าไม้จะดำเนินการตามหลักวิชาการทุกขั้นตอน ดังนี้

1. การสำรวจพื้นที่ที่เป็นป่าเสื่อมโทรม และจัดทำข้อมูลเบื้องต้น สำหรับใช้ประกอบการจัดทำแผนที่และกำหนดแผนการดำเนินงานต่อไป ได้แก่ ชื่อป่า ชนิดป่า ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ขอบเขตพื้นที่พรรณไม้ท้องถิ่น ชนิดไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ เป็นต้น

2. จัดทำแนวเขตแปลงปลูกสร้างสวนป่า โดยการหมายแนวเขตและลงพิกัดแปลงที่ถูกต้องชัดเจน

3. การทำแนวกันไฟและทางตรวจการณ์ ให้ทำแนวกันไฟขนาดความกว้าง 8-10 เซนติเมตรรอบพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวเขตและควบคุมป้องกันไฟป่าไม่ให้ลุกลามเข้ามาในพื้นที่ปลูกป่าและถ้าหากเป็นการปลูกป่าแปลงใหญ่ หรือสภาพพื้นที่เป็นภูเขาหรือเนินเขาสูงชันสลับซับซ้อนควบคุมป้องกันไฟป่าได้ยาก ให้ทำแนวกันไฟภายแปลงปลูกป่าตามบริเวณแนวสันเขาและขอบเขา

4.การคัดเลือกชนิดพรรณไม้ปลูก กล้าไม้ที่ปลูกต้องเป็นพรรณไม้ยืนต้นที่เป็นพรรณไม้ท้องถิ่นกำหนดชนิดพรรณไม้ปลูกตั้งแต่ 5 ชนิดขึ้นไป (ในการปลูกป่าที่จังหวัดเชียงรายใช้กล้าไม้ จำนวน 11 ชนิด รวมจำนวน 16,000 ต้น พื้นที่ 80ไร่)

5. การกำหนดระยะปลูก ระยะห่าง 2x4 เมตร ใช้หลักไม้ไผ่ขนาด 1-1.20 เมตร ปักหมายที่ปลูก

6. การเตรียมพื้นที่ ให้แผ้วถางวัชพืชในพื้นที่ให้เสร็จสิ้นก่อนปลูก เก็บสุมวัชพืชให้ห่างจากตำแหน่งปลูกเป็นแนวระดับตามสภาพพื้นที่ และดายวัชพืชเป็นวงกลมรัศมี 1 เมตร รอบหลุมที่ปลูกการปลูกด้วยกล้าไม้ชำถุงให้ขุดหลุมมีขนาดกว้าง ยาว และลึกอย่างน้อย 25 เซนติเมตร

7. การปลูก ปลูกต้นไม้ตามแนวพระราชดำริ ปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง ประกอบด้วยไม้ใช้สอย ไม้เพื่อเป็นแหล่งอาหาร และไม้เพื่อพลังงาน โดยชนิดไม้ที่เลือกมาปลูกมีทั้งไม้โตช้าและไม้โตเร็ว จำนวน 200 ต้นต่อไร่ รวมพื้นที่ที่ปลูกป่าจำนวน 80 ไร่ ในพื้นที่ที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรืออาจใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15 : 15 : 15 อัตราหลุมละ 10-20 กรัมผสมดินรองก้นหลุม

8. การทำแผงดักหมอก เพื่อเป็นที่บังแดดให้กับต้นไม้ที่ปลุกในเวลากลางวัน และเป็นที่ดักความชื้นในอากาศในช่วงกลางคืนและช่วงเช้าให้กลายเป็นหยดน้ำให้ความชุ่มชื้นกับต้นไม้ที่ปลูก โดยใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

9. การบำรุงรักษา หลังจากการปลูกแล้วประมาณ 1-2 เดือน ให้ทำการถางวัชพืชโดยเลือกใช้วิธีการถางเจาะร่องตามแนวระดับ หรือถากวงกลมรอบต้น หรือถางทั้งพื้นที่ ทั้งนี้แล้วแต่ความหนาแน่นของวัชพืชและ สภาพพื้นที่ และปลูกซ่อมกล้าไม้ที่ตายทันที นอกจากนี้ทุกปีในวันที่ 21 ตุลาคมซึ่งเป็นวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้เป็น วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ กรมป่าไม้จะจัดกิจกรรม พร้อมทั้งขอความร่วมมือทุกหน่วยงานให้ช่วยจัดกิจกรรมบำรุงรักษาต้นไม้ที่อยู่ในความรับผิดชอบเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จย่า

10. การลิดกิ่ง เป็นการช่วยให้ต้นไม้สามารถเจริญเติบโตและพัฒนาเป็นไม้โตเต็มวัยที่มีลักษณะดีแข็งแรง ทนทานต่อโรคและแมลง ให้ทำการลิดกิ่ง กำจัดเถาวัลย์ ปีละ 1 ครั้ง“ผลสำเร็จของการปลูกป่าที่เป็นรูปธรรมในวันนี้ มิได้เป็นเพียงพื้นที่ป่าที่มีพรรณไม้หลากหลายชนิดที่จะเจริญเติบต่อไปเท่านั้น แต่พื้นที่ปลูกป่านี้จะเป็นศูนย์รวมหยาดเหงื่อ แรงกาย แรงใจ และความสมัครสมานสามัคคีของพี่น้องชาวเชียงรายรวมทั้งพี่น้องชาวไทยทุกคนที่มีปณิธานอันแน่วแน่ในการพลิกฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์สู่แผ่นดินทองแห่งนี้ กรมป่าไม้เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ไม่ว่าภายภาคหน้าจะพานพบอุปสรรคปัญหาใด หากทุกฝ่ายยังคงร่วมมือ ร่วมใจกัน ความหวังในการพลิกฟื้นคืนความเขียวขจีสู่แผ่นดินไทยก็จะไม่สิ้นสูญ” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ