พันธมิตรต่อต้านไทฟอยด์ (The Coalition against Typhoid: CaT) เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายและรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของประเทศต่างๆทั่วเอเชีย ยกระดับการให้วัคซีนโรคไทฟอยด์เป็นวาระสำคัญของประเทศ ระหว่างการประชุมกุมารเวชศาสตร์แห่งเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 14 (14th Asia Pacific Congress of Pediatrics) ทั้งนี้ พันธมิตรต่อต้านไทฟอยด์ซึ่งจัดตั้งโดยสถาบันวัคซีนเซบิน (Sabin Vaccine Institute) ได้รวบรวมกุมารแพทย์ระดับแนวหน้าจากทั่วเอเชียมาพบปะพูดคุยถึงเรื่องภาระอันเกิดจากโรคไทฟอยด์ในภูมิภาค พร้อมกับเสนอทางออกในการต้อสู้กับโรคไทฟอยด์ซึ่งมีการระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ
“สมาคมกุมารเวชศาสตร์และผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วภูมิภาคต่างตระหนักถึงผลกระทบอันรุนแรงของโรคไทฟอยด์ โดยเฉพาะการที่โรคไทฟอยด์แพร่ระบาดมากขึ้นและดื้อยามากขึ้น หลายประเทศซึ่งรวมถึงอินเดียและอินโดนีเซียได้แนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์” ดร.ซัลฟิการ์ เอ บุตตา (Dr. Zulfiqar A. Bhutta) ประธานผู้ก่อตั้งแผนกสุขภาพเด็กและสตรี มหาวิทยาลัยอากาข่าน (Aga Khan University) เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน กล่าว “ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้กำหนดนโยบายของประเทศควรทบทวนหลักฐานและหารือกันถึงการนำวัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์มาใช้”
แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) จะแนะนำให้จัดลำดับความสำคัญของวัคซีนโรคไทฟอยด์ "ให้เริ่มใช้ทันที" ในการประชุมเมื่อปี 2552 แต่หลายประเทศในเอเชียยังไม่แนะนำหรือเริ่มนำวัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์มาใช้
“ตั้งแต่ปี 2540 กระทรวงสาธารณสุขเวียดนามได้ใช้วีคซีนไทฟอยด์ควบคุมโรคในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างได้ผล” ดร. เหงียน แวน ควอง (Dr. Nguyen Van Cuong) รองหัวหน้าโครงการภูมิคุ้มกันแห่งชาติของเวียดนาม กล่าว “นอกจากนั้นโครงการที่ประสบความสำเร็จยังถูกนำไปใช้ในประเทศจีนและไทยด้วย”
ข้อมูลของ WHO ระบุว่า โรคไทฟอยด์ส่งผลกระทบต่อผู้คนประมาณ 21 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 200,000 คนต่อปี ผู้เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กในวัยเรียนในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแอฟริกา WHO รายงานว่าผู้เสียชีวิตจากโรคไทฟอยด์ 90% อยู่ในเอเชีย
"ขณะนี้วัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ที่ได้รับการอนุมัติจาก WHO มีให้ใช้แล้ว แต่กระทรวงสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วเอเชียยังไม่ได้นำมาใช้อย่างเต็มที่" ดร.คริสโตเฟอร์ เนลสัน (Dr. Christopher Nelson) ผู้อำนวยการพันธมิตรต่อต้านไทฟอยด์ สำนักเลขาธิการสถาบันวัคซีนเซบิน กล่าว “สมาคมกุมารเวชศาสตร์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรทบทวนหลักฐานต่างๆให้ดี และพูดคุยกันเรื่องการนำวัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์มาใช้”
ไทฟอยด์เป็นโรคที่ระบาดในชุมชนผู้ยากไร้ที่ขาดแคลนน้ำสะอาดและสุขาภิบาลขั้นพื้นฐาน โดยจะแพร่เชื้อผ่านน้ำและอาหารที่ปนเปื้อน นอกจากจะเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากแล้ว การติดเชื้อไทฟอยด์ยังส่งผลกระทบต่อการเรียนและผลการเรียน ทั้งยังทำให้แรงงานต้องหยุดงานและทำให้ผลผลิตลดลงด้วย
“ในบังกลาเทศ โรคไทฟอยด์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กและวัยรุ่นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการเหมือนมีไข้” ดร.เมสบาห์ อัดดิน อาห์เมด (Dr. Mesbah Uddin Ahmed) กล่าว ทั้งนี้ ดร.อาห์เมดเป็นอดีตเลขาธิการทั่วไปสมาคมกุมารเวชศาสตร์บังกลาเทศ (Bangladesh Paediatric Association: BPA), เลขาธิการคณะกรรมการย่อยด้านภูมิคุ้มกันของ BPA และผู้อำนวยการแผนกสุขภาพเด็ก วิทยาลัยแพทย์ Gonosasthyo Samaj Vittick Medical College ในเขตซาวาร์ เมืองดากา
ในการหารือและนำเสนอข้อมูล บรรดากุมารแพทย์ได้ย้ำถึงความจำเป็นของการพัฒนาโครงการตรวจสอบและควบคุมโรคทั่วภูมิภาค พร้อมระบุว่าเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด จำเป็นต้องมีการใช้วัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ควบคู่กับโครงการสาธารณสุขอื่นๆ อาทิ การเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดและการส่งเสริมสุขลักษณะที่ดี ซึ่งรวมถึงการล้างมืออย่างถูกวิธี
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาระอันเกิดจากโรคไทฟอยด์ในเอเชีย รวมถึงดูรายนามวิทยากรทั้งหมดในงานวันนี้ได้ที่ http://coalitionagainsttyphoid.org/
เกี่ยวกับ พันธมิตรต่อต้านไทฟอยด์ (CaT)
พันธมิตรต่อต้านไทฟอยด์ (CaT) เป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันทั่วโลกที่ทำงานเพื่อช่วยชีวิตและลดความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย ด้วยการพัฒนาการให้วัคซีนไทฟอยด์ในชุมชนที่เป็นโรคไทฟอยด์กันมาก ซึ่งถือเป็นกลุ่มหนึ่งในบรรดาพันธมิตรชั้นนำที่ทำเช่นนี้ พันธมิตรต่อต้านโรคไทฟอยด์หวังว่าการยกระดับโรคไทฟอยด์ให้เป็นวาระสำคัญด้านสุขภาพของโลกพร้อมกับพัฒนาแผนงานอย่างครอบคลุมเพื่อต่อสู้กับโรค จะช่วยให้ผู้คนเข้าถึงวัคซีนช่วยชีวิตตัวนี้ได้มากขึ้น สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.coalitionagainsttyphoid.org/
เกี่ยวกับสถาบันวัคซีนเซบิน
สถาบันวัคซีนเซบิน เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรประเภท 501(c)(3) ของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และผู้สนับสนุน ซึ่งอุทิศตนทำงานเพื่อลดความทุกข์ทรมานที่มนุษย์ไม่ควรต้องเผชิญอันเป็นผลมาจากโรคที่วัคซีนสามารถป้องกันได้และโรคเมืองร้อนอื่นๆที่ขาดการเอาใจใส่ เซบินทำงานร่วมกับรัฐบาล องค์กรชั้นนำจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันวิชาการต่างๆ เพื่อนำเสนอวิธีกำจัดโรคต่างๆที่ระบาดมากที่สุดในโลก นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2536 เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร. อัลเบิร์ท บี. เซบิน (Dr. Albert B. Sabin) ผู้พัฒนาวัคซีนโปลิโอชนิดกิน ทางสถาบันได้เป็นผู้นำความพยายามในการควบคุม รักษา และกำจัดโรคเหล่านี้มาโดยตลอด ด้วยการพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ สนับสนุนการใช้วัคซีนที่มีอยู่ และส่งเสริมการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ไม่แพง สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.sabin.org