นางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการสัมมนาในครั้งนี้ว่า เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เป็นต้น หากได้มีการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไว้ล่วงหน้าและระยะยาวพอสมควร รวมทั้งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนั้นก็จะเป็นผลดีต่อประเทศชาติและประชาชน จึงได้จัดการสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการสัมมนา และชื่นชมสภาที่ปรึกษาฯ สำหรับการสัมมนาในการครั้งนี้ ที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางในการพัฒนาประเทศ และกล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานของรัฐบาลที่จะปฏิบัติต่อไปในอนาคต ซึ่งมี 5 ประเด็นหลักคือ
1. การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ที่มีมากกับผู้ที่มีน้อย ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่ชัดเจนมาก ความแตกต่างทั้งหลายนั้นนำมาซึ่งความไม่เข้าใจรวมถึงความทุกข์ยากของประชาชน หน้าที่ของรัฐบาลนั้นคือ ทำอย่างไรให้ช่องว่างดังกล่าวนั้นแคบลง ทำให้ผู้ที่มีน้อยนั้นมีมากขึ้น ทั้งในเชิงความรู้ ความสามารถในการทำงาน รวมถึงรายได้ทางสังคม
2. การพัฒนาทรัพยากรบุคคล การทำให้บุคคลที่เป็นสมาชิกของประเทศเรา ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ให้มีความเชื่อมโยงทั้งทางด้านการศึกษา ด้านสังคม ด้านสาธารณสุข
3. การสร้างความมั่นคง ทั้งความมั่นคงด้านอาหาร ด้านพลังงาน ด้านสังคมที่ปลอดอาชญากรรม ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีคุณภาพ มีอาหารเพียงพอ และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
4. การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจะทำเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เป็นวาระแห่งชาติ
5. รัฐบาลเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วม การที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะพาประชาชนในประเทศให้เคลื่อนไปข้างหน้า โดยขาดการมีส่วนร่วมกับองค์กรหรือหน่วยงานอื่น จะทำให้ประเทศเป็นประเทศที่ขาดความเข้าใจ ในฐานะรัฐบาล ขออาสาเป็นหุ้นส่วนที่ดี ในการปรึกษาหารือและร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้า
“การสัมมนาเรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทยใน 2 ทศวรรษหน้า (พ.ศ. 2556-2575) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555” ซึ่งการกำหนดระยะเวลาใน 2 ทศวรรษนั้น ถือว่ากำลังดี ทำให้เรารู้สึกว่าต้องตื่นตัว แต่ไม่ตื่นตูม” นายกิตติรัตน์ฯ กล่าวทิ้งท้าย
จากนั้น ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทยใน 2 ทศวรรษหน้า (2556-2575) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดย ศ.ดร.สุรเกียรติฯ กล่าวถึงยุทธศาสตร์แปดประการที่ควรใช้เป็นแนวทางในพัฒนาประเทศในสองทศวรรษหน้า “เราควรคิดว่าเราอยากมีสังคมอย่างไร เราจะได้มียุทธศาสตร์เพื่อจะไปให้ถึงสังคมอย่างนั้น” อดีตรองนายกฯ กล่าวเปิดประเด็น
1.ยุทธศาสตร์ในการสร้างความมั่นคงในชีวิต แบ่งเป็นสองยุทธศาสตร์
อย่างแรกเราควรมียุทธศาสตร์การสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมให้มีความมั่นคง เราต้องการสังคมที่ลดช่องว่าง ลดความเหลื่อมล้ำ เราต้องดูนโยบายที่ให้ความสำคัญเรื่องการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การเน้นนวัตกรรมต่างๆ ดูเรื่องแหล่งทุนที่เหมาะสม เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน การประกันสังคมรวมไปถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน
อย่างที่สองคือยุทธศาสตร์การสร้างสังคมของเราให้เข้มแข็ง เมื่อสังคมเข้มแข็ง เราถึงจะสร้างความมั่นคงในชีวิตให้คนไทยได้ อันแรกเราต้องนึกถึงการพัฒนาเครือข่ายของภาคประชาชน ทำอย่างไรให้เขาได้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในท้องถิ่น ทำอย่างไรจะสร้างสังคมให้มีภูมิคุ้มกันจากการเปลี่ยนแปลงในโลกาภิวัฒน์ เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องคือเรื่องชุมชนเข้มแข็งที่จะนำไปสู่ประเทศที่เข้มแข็ง เป็นสังคมที่มีความมั่นคงในชีวิต เรามีตัวอย่างหลายตัวอย่างของสังคมที่เข้มแข็ง ที่สามารถพัฒนาและรักษาทรัพยากรของชาติได้ สามารถดูแลสวัสดิการของประชาชนได้ สามารถดูแลภัยพิบัติหรืออาชญากรรมในท้องถิ่นของเขาได้ ที่สำคัญคือเราต้องเชื่อมโยงชุมชนต่างๆ ทั้งด้านการเรียนรู้ที่จะทำให้มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ชุมชนจะดูแลซึ่งกันและกันได้ เราต้องสร้างสังคมที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน
2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาคน เราต้องพัฒนาให้เป็นคนเก่งและเป็นคนดี เป็นคนที่รู้จักตน รู้จักไทยและเทศ เราต้องสร้างคนที่มีความรู้จักผิดชอบชั่วดี
3. ยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ เราต้องรู้จักประเทศต่างๆ ให้มากขึ้น มีเพื่อนให้มาก เพื่อการแก้ปัญหาระหว่างประเทศร่วมกัน มองเพื่อนบ้านในมิติใหม่ๆ ต้องรู้เขารู้เรา รู้จุดแข็งของประเทศไทยเราเอง ความพอดีของไทยในโลก ความพอดีของไทยอาเซียน เรามีความพอดีที่จะสามารถเชื่อมกับประเทศต่างๆ ในโลกได้
4. ยุทธศาสตร์การพัฒนากฎหมาย เพื่อให้สังคมเรามีความก้าวหน้าและมั่นคงมากขึ้น เป็นสังคมที่มีนิติรัฐและนิติธรรม มีกฎหมายที่มีความโปร่งใส รู้ว่าตนเองควรจะต้องทำอะไร เป็นกฎหมายที่ต้องตามเศรษฐกิจและสังคมให้ทัน
5. ยุทธศาสตร์ที่พร้อมจะรับในเรื่องที่พิเศษ เราต้องมียุทธศาสตร์ที่ต้องรองรับเรื่องพิเศษที่เราไม่ได้พูดถึงกันอยู่ทุกวัน เช่นเรื่องการเมือง กลุ่มน้ำมัน ความมั่นคงทางอาหารที่เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องการส่งเสริมนวัตกรรม การแปลงทรัพย์สินเชิงวัฒนธรรมให้เป็นเชิงพาณิชย์
6. ยุทธศาสตร์การปรองดองสมานฉันท์ ที่สังคมเรามีความแตกต่างแต่ไม่แตกแยก เช่น ชาวเขา หรือปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องมียุทธศาสตร์ที่ต้องมองว่าความหลากหลายคือพลัง
7. ยุทธศาสตร์ประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ไปกำกับและกำหนดยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจได้ ถึงจะเป็นสังคมที่อยู่บนความพอเพียงได้ ซึ่งมีหลักคือความพอประมาณ ความสมเหตุสมผลและการมีภูมิคุ้มกัน เป็นปรัชญาวิถีพุทธ เป็นเรื่องของความพอดี ความเหมาะสม แต่ไม่เบียดเบียนการอยู่ดีกินดีในอนาคตของคนรุ่นหลังด้วย ถ้าหากเราไม่ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้นั้น เราอาจล้มเหลวเพราะความสุดโต่งที่มีตัวอย่างให้เห็นกันมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความสุดโต่งทางด้านเศรษฐกิจในยุโรป ความสุดโต่งทางการเมืองที่นำไปสู่ความขัดแย้งในหลายๆ แห่งในโลก
8. ยุทธศาสตร์ของการเชื่อมยุทธศาสตร์ ผมมองว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่สามารถเชื่อมยุทธศาสตร์ทั้งหลายได้ ยุทธศาสตร์ต่างๆ จะไม่สำเร็จได้ หากไม่มีการเชื่อมโยงให้มีความสอดคล้องกัน เช่นการพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างความมั่นคง การสร้างความเข้มแข็งในสังคม ซึ่งถ้าไม่มีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคอยกำกับอยู่ เราก็อาจล้มเหลวได้ ซึ่งเราเคยล้มเหลวมาแล้ว และเราต้องจัดลำดับความสำคัญของยุทธศาสตร์ต่างๆ
“สุดท้ายแล้ว เราควรมียุทธศาสตร์ระยะยาวที่จะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามรัฐบาล แต่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ของโลกได้”
หลังจากนั้น เป็นการอภิปรายและแสดงความคิดเห็นในภาพรวมเรื่อง ยุทธศาสตร์ประเทศไทยใน 2 ทศวรรษหน้า ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการบริหารจัดการองค์กร และด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและประชาชน และด้านกระบวนทัศน์และยุทธศาสตร์ ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ซึ่งหลังเสร็จสิ้นการสัมมนา สภาที่ปรึกษาฯ จะนำข้อมูล ความเห็น ข้อเสนอแนะที่ได้ นำมาประมวลผล วิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและทิศทางในการพัฒนาประเทศต่อไป