คปก.ชงความเห็นร่างพ.ร.บ.กรรมการสิทธิฯ เปิดเผยข้อมูล เสนอแนวทางแก้ปัญหาตีความอำนาจตรวจสอบฯ

อังคาร ๑๘ กันยายน ๒๐๑๒ ๑๖:๒๒
นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ กรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานกรรมการเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เปิดเผยว่า คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้ทำหนังสือ ความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่องร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ซึ่งขณะนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุไว้ในระเบียบวาระของสภาผู้แทนราษฎร์สมัยสามัญทั่วไปแล้ว

“คปก.มีความเห็นและข้อเสนอแนะใน 7 ประเด็นคือ1.องค์ประกอบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2.การกำหนดค่าตอบแทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ3.อำนาจการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน 4.การรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา 5.กองทุนสิทธิมนุษยชน 6.อำนาจการเปิดเผยข้อมูลหรือข้อเท็จจริง 7.สถานะของบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ”

นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือ ในร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. .... มาตรา 43 บัญญัติห้ามมิให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อนุกรรมการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ เปิดเผยข้อเท็จจริงที่รู้หรือได้มาเนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่นั้น ประเด็นนี้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่หลักในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน หากกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อนุกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อเท็จจริงที่ได้มานั้น อาจส่งผลกระทบต่อโอกาสในการเข้าถึงของภาคประชาชน ดังนั้น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายขอเสนอให้ตัด มาตรา 43 ออกจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยเห็นว่าในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการนั้น มีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานของรัฐไว้อยู่แล้ว จึงไม่ควรบัญญัติห้ามเรื่องการเปิดเผยข้อเท็จจริงไว้ในร่างพระราชบัญญัติ

นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า อำนาจการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เดิมเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการตีความอำนาจในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิฯว่าไม่สามารถดำเนินการได้หากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล กรณีนี้ คปก. เห็นว่า อำนาจตรวจสอบฯดังกล่าวปรากฏในมาตรา 31 ของร่างพ.ร.บ.ฯ ระบุว่า หากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะดำเนินการตรวจสอบเรื่องนั้นในประเด็นเดียวกับที่มีการฟ้องร้องอีกไม่ได้ เว้นแต่เป็นการตรวจสอบเพื่อเสนอแนะนโยบายและการปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม ดังนั้น แม้จะมีการฟ้องเป็นคดีต่อศาลแล้ว แต่หากประเด็นที่จะดำเนินการตรวจสอบเป็นคนละประเด็นที่มีการฟ้องคดี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังคงมีอำนาจตรวจสอบได้

“ในแง่องค์ประกอบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คปก.เสนอให้การสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องคำนึงถึงโอกาส สัดส่วนที่เหมาะสม และความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชายไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการคัดเลือกซึ่งควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งในส่วนขององค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาและในกระบวนการสรรหา ส่วนการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเด็นนี้ คปก.เสนอให้การกำหนดเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ประโยชน์ตอบแทนอื่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงาน ตลอดจนบำเหน็จตอบแทนเมื่อพ้นจากตำแหน่งของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยตราเป็นเป็นพระราชบัญญัติ แทนการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

นายสุขุมพงศ์ กล่าวด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ควรเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง และบุคลากรในหน่วยงานก็ควรมีสถานะที่เป็นอิสระด้วยเช่นกัน ไม่ควรมีสถานภาพเป็นข้าราชการ อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้รับฟังความคิดเห็นของข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและอาจได้รับผลกระทบจากการตราพระราชบัญญัติ ดังกล่าว คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจึงมีข้อเสนอในระยะยาวว่า ในเรื่องการกำหนดสถานภาพบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ข้าราชการและพนักงาน โดยให้บุคลากรที่มีสถานภาพเป็นข้าราชการอยู่ไนปัจจุบันยังคงสถานภาพดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่ง

ติดต่อ:

สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ