สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินงานโครงการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายภาคอุตสาหกรรม ในโครงการย่อย 1 การพัฒนากลไกและเครื่องมือในการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อวันจันทร์ที่ 17 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ชู 3 ยุทธศาสตร์บริหารจัดการความปลอดภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายภาคอุตสาหกรรม เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน
นางสมศรี สุวรรณจรัส ผู้อำนวยการสำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าสารเคมีและวัตถุอันตรายเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่สำคัญของภาคการผลิต และเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม แต่ในขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคมก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสารเคมีและวัตถุอันตราย โดยปัญหาสารเคมีที่เกิดขึ้นจากภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วยปัญหาที่มีความหลากหลาย อาทิ ปัญหาสุขภาพจากการประกอบอาชีพในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงทางสุขอนามัยของผู้ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ปัญหาการรั่วไหลของสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรม และปัญหาอุบัติภัยสารเคมีที่เกิดจากอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรม และจากการขนส่งวัตถุอันตราย เป็นต้น ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความขัดแย้งกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบได้ อย่างไรก็ตาม กรมโรงงานอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และได้กำหนดภารกิจด้านการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามกฎหมาย และไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนความรู้ และความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่ภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งลดปัญหาการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
“การป้องกันปัญหาสารเคมีภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีการจัดระบบฐานข้อมูลสารเคมีและวัตถุอันตรายให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการพัฒนากลไกและเครื่องมือการควบคุมและกำกับดูแลสารเคมีและวัตถุอันตราย ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการกำจัดและการทำลาย เพื่อให้การควบคุมกำกับดูแลเป็นระบบ ครบวงจร การบูรณาการการทำงานเพื่อลดความเสี่ยงจากสารเคมีในพื้นที่สำคัญต่างๆ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการสารเคมีวัตถุอันตรายของผู้เกี่ยวข้องด้วย อีกทั้งในการแข่งขันทางการค้าในเวทีระดับสากล ผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวให้ทันกับกฎเกณฑ์ระเบียบใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่ได้ประกาศใช้กฎระเบียบต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็น
แนวทางให้เกิดความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม อย่างยั่งยืน อาทิ การจัดทำระบบการจัดการสารเคมี Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals (GHS)
ตามที่กำหนดไว้โดยสหประชาชาติและเอเปค ซึ่งเป็นการจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีที่ช่วยให้กฎระเบียบที่ใช้ในการจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมี รวมถึงเนื้อหาของเอกสารความปลอดภัยของแต่ละประเทศเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายซึ่งมีข้อบังคับมากมายหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนสารเคมีในผลิตภัณฑ์ (Registration) ประเมินความเสี่ยง (Evaluation) การใช้สารเคมีในผลิตภัณฑ์ (Authorization and Restriction of Chemicals) ซึ่งบริบทเหล่านี้ล้วนทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเตรียมตัวรับมือกับแผนการบริหารจัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับสถานการณ์ในระดับสากลด้วย” นางสมศรี กล่าว
นางสมศรี ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การจัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินงานโครงการบริหารจัดการความปลอดภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายภาคอุตสาหกรรม โครงการย่อยที่ 1 การพัฒนากลไกและเครื่องมือในการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้จัดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้ทราบถึงร่างแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย รวมถึงกลไกและเครื่องมือการบริหารจัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย อันจะยังประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมสัมมนา และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินงานตามกรอบร่างแผนการปฏิบัติการด้านการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายต่อไป
ด้าน นางสาวพรรรัตน์ เพชรภักดี ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทสไทย กล่าวว่า สำนักควบคุมวัตถุอันตราย ได้มอบหมายให้สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมฯ ดำเนินโครงการบริหารจัดการความปลอดภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายภาคอุตสาหกรรม โครงการย่อยที่ 1 การพัฒนากลไกและเครื่องมือในการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อศึกษาสถานการณ์ด้านกฎระเบียบ และมาตรการความปลอดภัยสารเคมีและวัตถุอันตรายของนานาประเทศ ทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย จีน สิงคโปร์ อินเดีย เกาหลี เวียดนาม และประเทศไทย รวมถึงเปรียบเทียบการบริหารจัดการของประเทศไทยเพื่อเป็นแนวทางการจัดทำกรอบร่างแผนการปฏิบัติการและนำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายของภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ทั้งนี้ การพัฒนาและจัดทำแผนดังกล่าว ได้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว จำนวน 2 ครั้ง ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชนประชาชน สื่อมวลชนทั่วไป รวมถึงผู้เกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วนจำนวนทั้งสิ้น 980 คน คลอบคลุม 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และลำพูน ซึ่งทั้ง 4 พื้นที่มีการใช้ การจัดเก็บ และมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการเก็บสารเคมี การใช้สารเคมี การผลิตสารเคมี และการขนส่งสารเคมีอยู่ใน 10 ลำดับแรกของประเทศไทย
ทั้งนี้ แผนการบริหารจัดการความปลอดภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายภาคอุตสาหกรรม ได้เป็น 3 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาระบบการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยการกำหนดกลไกเพื่อพัฒนาบัญชีรายการสารเคมีและวัตถุอันตรายของประเทศไทย (Thailand Existing Chemicals Inventory) และจัดทำบัญชีรายการสารเคมีและวัตถุอันตรายของประเทศไทย ยุทธศาสตร์ที่ 2 บริหารจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายอย่างยั่งยืน โดยการกำหนดกลไกเพื่อสร้างฐานข้อมูลสมบัติทางกายภาพ เคมี พิษวิทยาและนิเวศน์พิษวิทยาของสารเคมีหรือวัตถุอันตราย กำหนดมาตรการควบคุมสำหรับสารเคมีหรือวัตถุอันตรายที่มีอันตรายสูง พัฒนาระบบ/ซอฟแวร์ เพื่อเป็นช่องทางการยื่นข้อมูลของผู้ประกอบการ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และเป็นช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการควบคุม
และการดำเนินงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ศึกษาความเป็นไปได้เพื่อจัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อบริหารจัดการสารเคมีของประเทศ ศึกษารูปแบบ โครงสร้าง ขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานกลาง (Central Chemicals Agency) รวมถึงพัฒนา แก้ไข กฎหมายการบริหารจัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย และยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนใช้ฐานข้อมูล และมีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อมูลความเป็นอันตราย ความเสี่ยงของสารเคมี และให้ข้อคิดเห็นในการปรับปรุงฐานข้อมูลในกรณีที่ข้อมูลในบัญชีรายการสารเคมีที่มีการผลิตหรือนำเข้าไม่ถูกต้องผ่านช่องทางต่างๆ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายและให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสารเคมีและวัตถุอันตรายอีกด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2345-1013