นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีเปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางของภาคใต้ตอนบนและประตูสู่แดนใต้ ถือเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีประชากรและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นจังหวัดสำคัญในการกระจายสินค้าเข้าสู่ประเทศ หากอาหาร เครื่องสำอาง ยาแผนโบราณ และผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ที่วางจำหน่ายตามท้องตลาด ทั้งตลาดนัด หาบเร่ แผงลอย หรือตามชุมชนต่างๆ เป็นผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับการอนุญาตให้จำหน่ายอย่างถูกต้อง เมื่อผู้บริโภคซื้อไปใช้อาจทำให้ได้รับอันตรายต่อสุขภาพได้ แม้ว่าจะมีมาตรการสำหรับควบคุมคุณภาพให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีการตรวจพบสารต้องห้ามหรือสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพปนเปื้อนมากับสินค้าที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดมาโดยตลอด
การบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และภาคประชาชน
รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่ปี 2551 — ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมทั้งสนับสนุนชุดทดสอบอย่างง่ายที่คิดค้นโดยนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)จ.สุราษฎร์ธานี และมีการส่งเสริมบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ให้ปฏิบัติงานเชิงรุกในการใช้ชุดทดสอบเป็นเครื่องมือภาคสนามในการตรวจสอบเฝ้าระวังความปลอดภัยใน อาหาร ยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ให้แก่คนในท้องถิ่นด้วย
นางสาวปิยนาถ ลีวิวัฒน์ ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจาก จ.สุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่พื้นที่กว้าง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทาง ศูนย์วิทยฯที่ 11 ได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี(อบจ.) และเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี โดยเครือข่ายทั้งหมดร่วมกันกำหนดเป้าหมาย กิจกรรมการให้ความรู้ด้านวิชาการเกี่ยวกับอันตรายจากสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์สุขภาพ การสาธิตการใช้ชุดทดสอบสำหรับใช้เป็นเครื่องมือตรวจคัดกรองความไม่ปลอดภัยในผลิตภัณฑ์ต่างๆเป็นการเบื้องต้น เช่น ชุดทดสอบอาหาร ชุดทดสอบสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง ชุดทดสอบสเตียรอยด์ในยาแผนโบราณ ชุดทดสอบยาฆ่าแมลงในผักและผลไม้สด เป็นต้น จากการประเมินผลการดำเนินงานเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมาในการถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้ชุดทดสอบเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยในชุมชน แก่กลุ่มเป้าหมายจากหน่วยงาน อปท. ที่มีอยู่ทั้งหมดจำนวน 138 แห่ง ทั้งระดับเทศบาล และอบต. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขด้วยการออกแบบสอบถาม พบว่า มากกว่าร้อยละ70 ยืนยันว่าชุดทดสอบอย่างง่ายของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง และมีความเข้าใจแล้วว่าการตรวจด้วยชุดทดสอบสามารถทำได้ง่ายจากที่เคยคิดว่าทำได้ยาก ปัจจุบันชุดทดสอบเหล่านี้ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ชุมชนได้นำไปใช้ประโยชน์ในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่เป็นภัยต่อสุขภาพ ซึ่งความสำเร็จที่ได้จะนำไปปรับใช้ สำหรับการดำเนินงานในจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่รับผิดชอบต่อไป
ทางด้าน นายมนตรี เพชรขุ้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การดูแลงานด้านสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนชาวสุราษฎร์ฯมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดต้องดำเนินงานควบคู่ไปกับภารกิจด้านอื่นๆอยู่แล้ว ทั้งนี้จะเห็นว่าปัจจุบันทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผักผลไม้ อาหารต่างๆที่มีการปนเปื้อนสารเคมี และการที่ อบจ.ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่11 ในการนำชุดทดสอบที่เป็นเทคโนโลยีอย่างง่ายมาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ต่างๆที่วางจำหน่ายในท้องตลาด ทำให้ อบจ.เกิดความตระหนักว่าการตรวจเฝ้าระวังสุขภาพเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เช่น พบว่าผักผลไม้บางชนิดมีการปนเปื้อนของสารเคมี พบว่ามีสารสเตียรอยด์ในยาแผนโบราณ มีการใช้ฟอร์มาลีนมาแช่อาหารทะเลเพื่อให้สดใหม่อยู่เสมอ หรือตรวจพบสารโพล่าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในน้ำมันทอดซ้ำ เป็นต้น ซึ่งทางศูนย์วิทย์ที่11 ยังได้ร่วมมือกับ อสม.ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการใช้ชุดทดสอบลงไปยังชุมชน ช่วยให้คนในชุมชนมีภูมิคุ้มกันทางด้านสุขภาพและตระหนักในเรื่องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยมากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการก็ใส่ใจในการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยก่อนจำหน่ายสู่ท้องตลาดมากขึ้นด้วย ถึงแม้การพัฒนาชุดทดสอบอย่างง่ายเป็นเรื่องที่ทาง อบจ. ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองแต่ อบจ.ยินดีที่จะให้การสนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่