ธรณีสัณฐานกับการจัดการน้ำท่วม

ศุกร์ ๒๑ กันยายน ๒๐๑๒ ๑๙:๔๕
น้ำท่วม เกิดขึ้นบ่อยๆ ในพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย ทำให้เกิดความสูญเสียในทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมากหรือน้อยขึ้นกับขนาดของพื้นที่ และการใช้พื้น ทำเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม รวมทั้งความหนาแน่นของประชากร และอาคาร/บ้านเรือน

ภาพน้ำท่วมในอดีต ปี ๒๕๒๖ น้ำท่วมภาคกลาง และกทม. ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ความเสียหายไม่มากนัก อุตสาหกรรมไม่ถูกน้ำท่วม บ้านเรือนและตึกแถวในเมืองเสียหายบ้าง บ้านจัดสรรมีน้อย บ้านเรือนใต้ถุนสูงเสียหายไม่มาก โดยระดับน้ำท่วมตามการขึ้นลงของน้ำทะเล และท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ต่อมาปี ๒๕๓๘ น้ำท่วมซ้ำ เสียหายเพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวของชุมชนเมือง แต่ยังไม่มีภาคอุตสาหกรรม ล่าสุด ปี 2554 ปลายเดือนมีนาคม ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ รวม 7 วัน มีปริมาณน้ำฝนประมาณ 1,900 ม.ม. เกิดดินถล่มใน จังหวัดกระบี่ และนครศรีธรรมราช ทำให้น้ำท่วมริมฝั่งแม่น้ำตาปี ซึ่งท้ายน้ำคือ จังหวัดสุราษฎร์ธานีท่วมสูงที่สุด หลังจากนั้น เกิดมหาอุทุกภัย ในภาคกลางและ กทม.

ธรณีสัณฐาน ภาคเหนือของประเทศไทย มีสภาพธรณีสัณฐาน เป็นภูเขาสูงชัน ที่ราบระหว่างหุบเขาและที่ราบริมแม่น้ำ ประกอบด้วยแม่น้ำหลัก 4 สาย คือ ปิง วัง ยม น่าน ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ และยังมีแม่น้ำสะแกกรังทางด้านตะวันตกไหลมารวมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดอุทัยธานี ทางด้านทิศตะวันออกมีแม่น้ำป่าสักไหลมารวมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดอยุธยา รวมพื้นที่รับน้ำประมาณ 145,000 ตร.กม. ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มประมาณ 30,000 ตร.กม.

ลุ่มน้ำปิง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันมีลำน้ำสาขาจำนวนมาก บริเวณที่ไหลมารวมกันหรือรวมกับแม่น้ำปิงจะเกิดเป็นที่ราบลุ่มขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างตามขนาดของลำน้ำสาขา เช่น บริเวณอำเภอเชียงดาว พร้าว ฮอด ประกอบกับลุ่มน้ำปิงอยู่ในเขตรอยเลื่อนขนาดใหญ่ ตัวเมืองเชียงใหม่ ลำพูน และอำเภอใกล้เคียง เกิดการยุบตัวเป็นที่ราบขนาดใหญ่ มีแม่น้ำปิง แม่กวงและแม่ทาไหลมารวมกัน จึงเป็นพื้นที่รับน้ำท่วม ซึ่งได้มีการสร้างเขื่อนตัดยอดน้ำ 2 แห่ง คือ เขื่อนแม่งัด และเขื่อนแม่กวง มีเขื่อนภูมิพลที่เป็นเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่กักเก็บน้ำส่วนใหญ่ของแม่น้ำปิงก่อนไหลไปจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มต่ำริมฝั่ง (สีเขียวในแผนที่)

ลุ่มน้ำวัง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหุบเขา ภูเขาสูงน้อยกว่าลุ่มน้ำปิงและน่าน ลำน้ำสาขาสายสั้นๆไหลมารวมกันหรือรวมกับแม่น้ำวัง จึงมีที่ราบลุ่มขนาดเล็ก และที่ราบลุ่มริมฝั่งยาวตามลำน้ำ ลักษณะพื้นที่จำกัดจึงมีการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ 2 แห่ง คือ เขื่อนกิ่วลม และเขื่อนกิ่วคอหมา

ลุ่มน้ำยม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาที่ไม่สูงชัน ทำให้ลำน้ำมีความลาดชันน้อย มีลำน้ำสาขาจำนวนมาก จึงมีที่ราบลุ่มขนาดเล็กและใหญ่ ตลอดแนวลำน้ำ และมีร่องน้ำแคบแบบคอขวดช่วงรอยต่อระหว่างอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่และอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เมื่อไหลไปรวมกับแม่น้ำน่านซึ่งมีความลาดชันสูงกว่า จึงเกิดเป็นที่ลุ่มต่ำตามแนวลำน้ำ บริเวณจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร

ลุ่มน้ำน่าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันมีลำน้ำสาขาจำนวนมาก แต่มีที่ราบน้อย เกิดเป็นที่ราบแคบๆสลับร่องน้ำแคบแบบคอขวด เช่น บริเวณอำเภอท่าวังผา มีลำน้ำหลายสาขาไหลมารวมกับแม่น้ำน่านจึงเป็นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ สลับร่องน้ำแคบแบบคอขวด ช่วงตำบลบ่อ อำเภอเมืองจังหวัดน่าน และเป็นที่ราบลุ่มอีกครั้งช่วงตัวเมืองน่านและอำเภอเวียงสา สภาพธรณีสัณฐานแบบนี้จึงทำให้ระดับน้ำท่วมสูง 5 เมตรช่วงร่องน้ำแคบ

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่น้ำปิงและแม่น้ำวังมีความลาดชันสูงกว่าแม่น้ำน่านและแม่น้ำยม เมื่อไหลมารวมกันบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ (วงสีแดงในแผนที่) ซึ่งเป็นร่องน้ำแคบแบบคอขวด จึงเกิดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำคล้ายแก้มลิงบริเวณบึงบอระเพ็ด แม่น้ำเจ้าพระยารวมกับแม่น้ำสะแกกรังจึงเกิดพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณจังหวัดอุทัยธานี และรวมกับแม่น้ำป่าสักเกิดเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณจังหวัดอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กทม และสมุทรปราการ ซึ่งหลายพันปีก่อนน้ำทะเลเคยท่วมถึง จังหวัดอยุธยาและสมุทรปราการ จึงมีระดับความสูงต่างกันเพียง 2 เมตร และได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลขึ้นและลง

แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านที่ราบลุ่ม ทำให้มีลักษณะคันดินธรรมชาติริมฝั่ง และมีที่ลุ่มต่ำห่างออกไป มีการใช้ที่ดินสำหรับอยู่อาศัยและทำนา ตามลำดับ พื้นที่ลุ่มต่ำทางด้านทิศตะวันออกจะมีเนื้อที่น้อยกว่าทางด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยปกติถ้าไม่มีปัจจัยอื่นๆ เช่น คันกั้นน้ำ ประตูน้ำ น้ำหลากล้นฝั่งควรมีทิศทางไหลไปตามแนวแม่น้ำน้อยทางด้านทิศตะวันตกมากกว่าไหลไปตามแนวแม่น้ำลพบุรีด้านทิศตะวันออก

แม่น้ำเจ้าพระยามีเขื่อนชัยนาท แม่น้ำป่าสักมีเขื่อนป่าสักชลสิทธ์ คอยควบคุมการระบายเพื่อใช้ในการชลประทาน โดยปริมาณน้ำที่ไหลเข้าจะเกินความจุของอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่ง จึงต้องมีการจัดการที่ดีเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

มหาอุทุกภัย 2554 เกิดฝนตกต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 จนเข้าฤดูฝนในเดือน พฤษภาคม ประกอบกับมีพายุโซนร้อนพัดผ่านประเทศไทยและใกล้เคียงจำนวน 5 ลูก สลับกับร่องมรสุมพาดผ่านต่อเนื่อง จนถึงเดือน กันยายน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,781 มม. ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ประมาณ 35 %

แม่น้ำยมมีความลาดชันน้อยที่สุด เมื่อเกิดฝนตกหนักตลอดแนวลุ่มน้ำจะทำให้น้ำล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร นอกจากนี้บริเวณจังหวัดนครสวรรค์แม่น้ำเจ้าพระยามีลักษณะเป็นคอขวด เมื่อแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ไหลมารวมกันจึงไหลล้นตลิ่งท่วมที่ราบลุ่มต่ำเกิดเป็นบึงบอระเพ็ด แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านที่ราบลุ่มภาคกลาง ทำให้มีพื้นที่ลุ่มต่ำตลอดแนวสองฝั่ง โดยเฉพาะจังหวัดอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ประชาชนจึงตั้งบ้านเรือนลักษณะใต้ถุนสูงริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่ดอน ซึ่งเป็นแนวคันดินธรรมชาติ ที่มีความสูงกว่าที่ราบลุ่มต่ำ ระดับน้ำท่วมจะน้อยกว่า 3 เมตร ถ้าไม่มีคันกั้นน้ำ

ในปี 2554 ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ 35 % ทำให้เกิดดินแยก ดินไหล ในพื้นที่ภูเขาบริเวณต้นน้ำ แม่น้ำน่าน ยม ปิง และวัง หลายแห่ง ตามลำดับ ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากตามมา และเกิดดินถล่มบริเวณตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ รวมทั้งน้ำป่าไหลหลากจากต้นน้ำ แม่น้ำสะแกกรัง และป่าสัก ตามลำดับ ปริมาณน้ำจำนวนมากเกินความจุของอ่างเก็บน้ำทุกแห่ง มวลน้ำเคลื่อนมาถูกที่ถูกเวลาส่งผลให้การระบายน้ำผิดพลาด โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนชัยนาท ต้องระบายน้ำอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ล้นตลิ่งแม่น้ำปิง น่าน และเจ้าพระยา โดยบริเวณจังหวัดนครสวรรค์กระแสน้ำถูกบีบเป็นคอขวด ประกอบกับมีคันกั้นน้ำตลอดแนวริมฝั่งก่อนถึงคอขวด และบึงบอระเพ็ดซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำถูกบุกรุก จึงทำให้ระดับน้ำสูงเพิ่มขึ้นจนล้นคันกั้นน้ำและไหลหลากท่วมตัวเมืองนครสวรรค์ในระดับที่สูงมากกว่า 3 เมตร ส่งผลให้มวลน้ำไหลเข้าเขื่อนชัยนาทเกินความจุ ต้องระบายอย่างรวดเร็วทำให้คันดินประตูระบายน้ำมโนรมย์ และประตูระบายน้ำบางโฉมศรีขาดเสียหายเป็นบริเวณกว้าง มวลน้ำจึงไหลล้นคลองระบายน้ำ ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำทางด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และไหลไปรวมแม่น้ำลพบุรี ก่อนไหลไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาและป่าสัก บริเวณเกาะเมืองจังหวัดอยุธยา ซึ่งมวลน้ำต้องไหลผ่านคันกั้นน้ำและคันถนนในแนวตะวันออก-ตะวันตก ระดับน้ำท่วมจึงถูกยกให้สูงจากคันกั้นน้ำหรือถนนประมาณ 50-80 ซม.เพื่อเคลื่อนที่ไปทางทิศใต้ตามแนวพื้นที่ลุ่มต่ำ ส่งผลให้คันกั้นน้ำแตกทุกพื้นที่ โดยเฉพาะถนนที่เป็นเส้นทางหลัก มวลน้ำจึงเพิ่มมากขึ้นทุกวัน และเคลื่อนที่ไปท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำต่อไป ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร โรจนะ บางหว้า นวนคร ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันที่มีระดับน้ำสูงกว่าคันกั้นน้ำของนิคมประมาณ 50-80 ซม. ทั้งนี้ในบริเวณริมฝั่งด้านโค้งนอกของแม่น้ำ จะถูกกระแสน้ำกัดเซาะ หรือไหลล้นทำให้คันกั้นน้ำพัง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การจัดการน้ำท่วมควรศึกษาข้อมูลธรณีสัณฐานของลำน้ำทั้งหมดก่อนดำเนินการใช้สิ่งก่อสร้าง เพื่อช่วยในการจัดการ เช่น การสร้างเขื่อน ควรคำนึงถึงการเก็บกักตะกอน และช่องทางระบายน้ำล้นของอ่างเก็บน้ำ ให้น้ำไหลได้สะดวกเมื่อเกินความจุ และไม่ส่งผลกระทบมากนัก หรือการสร้างถนนที่กีดขวางการไหลของน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ และการสร้างคันกั้นน้ำ บริเวณริมตลิ่งและพื้นที่ลุ่มต่ำ จะทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ ควรศึกษาคุณสมบัติของชั้นดินเพื่อลดผลกระทบจากน้ำซึมลอดใต้คันกั้นน้ำ หรือปรากฏการณ์ Sand boil ทำให้คันกั้นน้ำแตกร้าว ยุบตัว และพัง จนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จะช่วยให้การจัดการน้ำท่วมมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้เหลือน้อยลง

สนับสนุนข้อมูลโดย

สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO