นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอนามัยแม่และเด็ก เน้นป้องกันเด็กปัญญาอ่อน เร่งพัฒนาระดับสติปัญญาการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก จากการสำรวจพัฒนาการเด็กไทยโดยกรมอนามัย สมวัย เพียงร้อยละ 73 และการสำรวจไอคิวของเด็กนักเรียนไทยอายุ 6- 15 ปี โดยกรมสุขภาพจิต พบไอคิวเฉลี่ย 99 จุด โดยสูงสุดที่กทม. 105 จุดต่ำสุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 96 จุด ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานสากลคือ 100 จุด สาเหตุหลักเกิดจากการขาดสารไอโอดีน ซึ่งสำคัญต่อการพัฒนาสมอง ตลอดจนการเลี้ยงดูของพ่อแม่
มาตรการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าจะให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัยร้อยละ 90 และมีไอคิวเกิน 100 จุด ภายในปี 2559 การดำเนินการใน 4 ปีนี้ จะเน้นหนัก 3 เรื่อง ได้แก่
1. การส่งเสริมสุขภาพในประชากร 5 กลุ่ม ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กทารก เด็กปฐมวัย และเด็กวัยเรียน รวมปีละ 14 ล้านคน โดยในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ปีละ 8 แสนคน จะเน้นให้ฝากครรภ์ทันที ที่รู้ว่าตั้งครรภ์หรืออายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ให้ได้มากกว่าร้อยละ 80 เพื่อที่จะป้องกันแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที และจัดระบบเฝ้าระวังระดับไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ให้อยู่ระหว่าง 150-249 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรโดยสนับสนุนให้ได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีน เหล็กและโฟเลต ทุกคนตลอดการตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด 6 เดือน ซึ่งขณะนี้ให้บริการฟรีในโรงพยาบาลทุกแห่งครอบคุลมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ ในกลุ่มเด็กทารกให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชนได้เจาะเลือดเมื่ออายุครบ 48 ชั่วโมง เพื่อตรวจระดับฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์เพื่อได้รับการรักษาให้ทันท่วงที อีกทั้งผลักดันนโยบาย “ กิน กอด เล่น เล่า” โดยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และโภชนาการสมวัย พ่อแม่กอดลูกและเล่านิทานให้ลูกฟัง รวมทั้งให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ
2. กำหนดให้เกลือบริโภคทั้งคนและสัตว์ทุกชนิด ต้องเป็นเกลือเสริมไอโอดีน โดยได้ออกกฎหมายให้เกลือบริโภคต้องมีปริมาณไอโอดีน 20-40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สร้างศูนย์เรียนรู้การผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปีนี้ได้สนับสนุนเครื่องผสมเกลือไอโอดีนที่ได้มาตรฐานให้กับผู้ประกอบการเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก จำนวน 100 เครื่อง และสนับสนุนสารโพแทสเซียมไอโอเดท เพื่อให้ผู้ประกอบการผลิตเกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพและเป็นไปตามหลักกฎหมายที่กำหนด ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาชุมชนหมู่บ้านทั่วประเทศซึ่งมี 77,000 แห่งให้เป็นชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีน และพัฒนาสู่ความยั่งยืนเป็นจังหวัดไอโอดีนทั้งหมดภายในปี 2558
3. เสริมไอโอดีนในน้ำดื่มในพื้นที่ทุรกันดารในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำหริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรณรงค์สร้างกระแส ความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักเรื่องไอโอดีนที่มีผลต่อพัฒนาการสมวัยและสติปัญญา
สำหรับการจัดงานรวมพลังสร้างชาติ แม่และเด็กไม่ขาดไอโอดีนในครั้งนี้ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการขจัดโรคขาดสารไอโอดีน โดยนายกรัฐมนตรีร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างมีพลัง ทั้งกลุ่มผู้ผลิต ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนมีคุณภาพตามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด กลุ่มผู้บริโภค กลุ่มผู้ประกอบการด้านอาหารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนและครัวเรือน มีการใช้เกลือบริโภคเสริมไอโอดีนและผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนคุณภาพทุกครั้งที่ปรุงและประกอบอาหาร รวมทั้งเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆที่มีไอโอดีน เช่น ไข่ไก่เสริมไอโอดีน อาหารทะเล เป็นประจำจนอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มวัย
นอกจากนี้ยังได้มอบโล่เกียรติคุณแก่องค์กรระหว่างประเทศ และหน่วยงานที่สนับสนุนการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน จำนวน 10 หน่วยงาน การลงนามข้อตกลงหรือเอ็มโอยู (MOU) ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีนภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ นิทรรศการให้ความรู้ เวทีเสวนาวิชาการ “รวมพลังภาคีร่วมใจ แม่และเด็กไทยไม่ขาดไอโอดีน”