อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันทั่วโลกว่าจำนวนหมายเลขอินเทอร์เน็ต หรือ Internet Protocol version 4 (IPv4) ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้หมดลงจากส่วนกลางไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา โดยจำนวนหมายเลข IPv4 ที่คงเหลืออยู่สาหรับจัดสรรภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นเหลืออยู่น้อยมากและคาดว่าจะหมดลงเป็นภูมิภาคแรกของโลก ส่งผลให้การดำเนินการขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตภายในประเทศไทยเพื่อรองรับแนวนโยบายรัฐบาลดังกล่าวข้างต้นต้องประสบกับปัญหาหมายเลขอินเทอร์เน็ตมีไม่เพียงพอ ดังนั้น การผลักดันให้มีการใช้งาน Internet Protocol version 6 (IPv6) ในประเทศไทย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน และหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงกลุ่มประเทศในอาเซียนได้ประกาศแผนกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานเพื่อปรับเปลี่ยนเครือข่ายภายในประเทศของตนไปสู่ IPv6
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ มีนโยบายที่จะผลักดันและสนับสนุนให้มีการใช้ IPv6 ในประเทศไทย ภายใต้ทิศทางที่สอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อน ICT ของโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้าน IPv6 ที่เป็นมาตรฐานสากลให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ด้วยการจัดทำโครงการเพื่อศึกษาแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดัน ส่งเสริม เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินงาน IPv6 ในประเทศไทยขึ้น โดยดำเนินการศึกษาแผนกลยุทธ์ด้าน IPv6 จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ศึกษาสถานภาพและความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตภายในประเทศ รวมทั้งจัดการประชุมระดมสมองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำเป็นร่างแผนปฏิบัติการ IPv6 ของประเทศไทย ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการฯ ที่จะจัดทำขึ้นดังกล่าว นอกจากจะมีแผนการดำเนินงาน และระยะเวลาดำเนินงานแล้ว จะมีมาตรการเร่งรัด ผลักดัน ติดตามประเมินผล และเพิ่มศักยภาพบุคลากรอีกด้วย
กระทรวงฯ หวังว่าการประชุมระดมความคิดเห็นสาธารณะฯ ในครั้งนี้ จะทำให้ได้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์สามารถนำมาใช้ปรับปรุงร่างแผนปฏิบัติการ IPv6 ของประเทศไทย เพื่อให้ได้แผนปฏิบัติการฉบับสมบูรณ์ที่มีความชัดเจน และนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง รวมทั้งเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
“การใช้ IPv6 นั้นจะเป็นส่วนประกอบสำคัญด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) สำหรับโครงข่ายการสื่อสาร ยุคใหม่ที่มีประสิทธิภาพ มีความทั่วถึง ทันต่อเทคโนโลยี และมีความมั่นคงปลอดภัย สามารถรองรับกับระบบงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (Smart-Government) นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ นโยบาย Free WiFi และนโยบาย One Tablet Per Child รวมถึงเป็นการเตรียมพร้อมให้กับบริการใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นทั้ง 3G, LTE และ IPTV เป็นต้น” นางเมธินี กล่าว