คสช.คลอดแผนปฏิบัติการรองรับ 4 ยุทธศาสตร์สกัดนักดื่มหน้าใหม่ ขึ้นภาษีสรรพสามิต-เข้มผลตรวจแอลกอฮอล์

อังคาร ๒๕ กันยายน ๒๐๑๒ ๑๕:๕๙
การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช. ) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2555 โดยนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุม มีการพิจารณา "แผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ" พ.ศ. 2555-2558 ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องตามมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 พ.ศ.2552 และมติคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติเมื่อเดือนพฤษภาคม2555 โดยมีเป้าหมายในการลดผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่สร้างความเสียหายทั้งมิติทางด้านสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจ

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) เปิดเผยว่า แผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์แอลกอฮอล์ระดับชาติ พ.ศ.2555-2558 นี้จะใช้เป็นกรอบในการทำงานร่วมกันของหน่วยงาน องค์กร และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้ง เหล้า เบียร์ ไวน์ และสุราพื้นบ้าน เนื่องจากขณะนี้พบว่าแม้ภาครัฐจะมีนโยบายในการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด แต่ปริมาณการบริโภคกลับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ทั้งชายและหญิง ที่เพิ่มขึ้นถึงปีละ 2.6 แสนราย โดยนักดื่มชายมีสัดส่วนการดื่มสูงกว่านักดื่มหญิง ถึง 3 เท่าตัว อีกทั้งยังพบว่าผู้บริโภคเดิมที่เคยดื่มเพียงครั้งคราว กลายเป็นนักดื่มประจำ

แผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้ได้จัดทำขึ้นและผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องมาร่วมพิจารณาอย่างรอบด้าน ประกอบด้วยยุทธศาสตร์สำคัญใน 4 เรื่อง ครอบคลุมเรื่องการลดการบริโภคแอลกอฮอล์ในสังคมไทย ประเด็นหลักคือ การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต การป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ที่จะเพิ่มขึ้น ด้วยการปรับทัศนคติของสังคมที่หลงไปกับการโฆษณาของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การลดความเสี่ยงจากการบริโภคทั้งในเรื่องปริมาณและพฤติกรรมหลังการบริโภค เน้นการบังคับใช้กฎหมายจากเดิม "เมาไม่ขับ" เป็นการ "ดื่มไม่ขับ" สุดท้ายคือ การจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ในระดับท้องถิ่นชุมชนที่จะต้องสร้างนโยบายของตนเองขึ้นมา โดยจะหวังพึ่งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้

“การสนับสนุนแผนปฏิบัติการทั้ง 4 ยุทธศาสตร์จะต้องอาศัยงบประมาณทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เห็นความสำคัญในการแก้ปัญหา ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง ที่สนใจเข้าร่วมก็พร้อมสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรบุคคล" นพ.ณรงค์ศักดิ์กล่าว

ด้านนพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า แผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์แอลกอฮอล์ระดับชาติในช่วง4 ปี (พ.ศ.2555-2558) มีเป้าหมายในการควบคุมและลดปริมาณการบริโภคโดยรวมของประชากรวัยผู้ใหญ่ให้อยู่ในสัดส่วนไม่เกิน 28.5% และปริมาณการบริโภคไม่เกิน 7.71 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธ์ต่อคนต่อปี รวมถึงการลดจำนวนการเพิ่มขึ้นของนักดื่มหน้าใหม่อายุ 15-19 ปีไม่เกิน 12.7% ซึ่งจะทำให้สัดส่วนของผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำต่อผู้บริโภคทั้งหมด ไม่เกิน 40.67% ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสังคมตามมา

แผนปฏิบัติการฉบับนี้ครอบคลุมยุทธศาสตร์ 4 ด้านประกอบด้วย 1. ยุทธศาสตร์การควบคุมการเข้าถึงทางเศรษฐศาสตร์และทางกายภาพ โดยใช้กลไกให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าราคาแพงและหาซื้อได้ยาก ซึ่งกระทรวงการคลัง จะต้องมีการใช้มาตรการปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิตและจำหน่ายสุรา รวมทั้งการปรับเพดานภาษีสรรพสามิตสุราให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่กระทรวงมหาดไทย ต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการควบคุมการออกใบอนุญาตและจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่

2.ยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนค่านิยมและลดแรงสนับสนุนในการดื่ม โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรมประชาสัมพันธ์ ควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการอนุญาตโฆษณา รวมทั้งให้กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาการควบคุมการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆทางสังคม เช่น การเป็นสปอนเซอร์และกิจกรรมทางการตลาดของอุตสาหกรรมสุรา รวมถึงการทำการตลาดของสินค้าอื่นที่ใช้ชื่อและตราสัญลักษณ์ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้ความสำคัญกับช่องทางการโฆษณาที่สร้างการรับรู้ต่อเยาวชน และการทำตลาดผ่านกิจกรรมสร้างภาพลักษณ์ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibity : CSR) เป็นหลัก

3.ยุทธศาสตร์การลดอันตรายจากการบริโภค (Risk Reduction) เสนอให้คณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติผลักดันกฎหมาย เพิ่มบทลงโทษหรือเพิ่มพื้นที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อต่อยอดระเบียบในการห้ามบริโภคในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น บนยานพาหนะสาธารณะประเภทรถโดยสาร ในการแสดงดนตรี บริเวณทางเท้า ทางสาธารณะ ผิวจราจร รอบศาสนสถาน บริเวณใกล้สถานศึกษาและหอพัก พื้นที่การแข่งขันกีฬา การแสดงดนตรีและงานวัฒนธรรม รวมถึงเสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพิ่มความเข้มแข็งและสม่ำเสมอในการกวดขัน พร้อมลดระดับเพดานแอลกอฮอล์ในเลือดสำหรับผู้ขับขี่ทั่วไปและผู้ขับขี่ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากอัตราการบาดเจ็บและการเกิดอุบัติเหตุ และความชุกของพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่มยังอยู่ในระดับสูง

4.ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ในระดับพื้นที่ มุ่งไปที่การสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระบบราชการส่วนภูมิภาค มีศักยภาพมากขึ้นในการจัดการกับปัญหากรบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในระดับชุมชน ด้วยการออกกฎระเบียบ เช่น เทศบัญญัติเพื่อควบคุมพื้นที่ในการห้ามจำหน่ายสุรา หรือภายใต้โครงสร้างของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และสนับสนุนให้ชุมชนสามารถมีมาตรการที่สอดคล้องกับบริบทของตนเองได้

“ในโอกาสนี้อยากจะเชิญชวนทุกภาคี ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มาร่วมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์แอลกอฮอล์ระดับชาติฉบับนี้ร่วมกัน เพื่อช่วยกันลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” นพ.สมานกล่าว

ที่ประชุม คสช.มีการอภิปรายเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง มีความห่วงกังวลว่า การระบาดของ เหล้าปั่น ซุ้มยาดอง จะส่งผลกระทบต่อวัยรุ่น เนื่องจากเป็นการเพิ่มนักดื่มหน้าใหม่ รวมทั้งมีข้อสังเกตให้เพิ่มเน้นความเข้มงวดในการปราบปราม ตรวจจับ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่น การจำหน่ายนอกเวลา การจำหน่ายแก่เยาวชน รวมทั้งมีมาตรการลงโทษผู้กระทำผิด และให้รางวัลจูงใจแก่ผู้รับผิดชอบปฏิบัติตามหน้าที่ด้วย และในท้ายที่สุดที่ประชุมคสช.มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการดังกล่าว เตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ