การโอน(เงินออม)ของคนต่างรุ่น เพิ่มความคุ้มครองกลุ่มเสี่ยงสูงวัยในเอเชีย

พุธ ๒๖ กันยายน ๒๐๑๒ ๑๘:๐๑

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ร่วมกับ สถาบันวิจัยประชากรมหาวิทยาลัยนิฮอน (NUPRI) จัดการประชุมทางวิชาการบัญชีการโอนประชาชาติ(National Transfer Accounts) ภูมิภาคเอเชีย เรื่อง การโอนระหว่างรุ่น ประชากรสูงอายุ และการคุ้มครองทางสังคม : การนำเสนอผลการวิจัย NTA และการอภิปรายเชิงนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองทางสังคมในอนาคตของประชากรกลุ่มเสี่ยงในประเทศเอเชีย การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นที่โรงแรมพุลแมน กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 21-22 กันยายน 2555 เพื่อนำเสนอและอภิปรายผลการศึกษาและผลกระทบต่อนโยบายของประเทศในเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้นักวิชาการและผู้วางนโยบายได้มีโอกาสพูดคุยกันโดยตรง

ดร.เอ็ดการ์ด โรดริเกซ (Edgard Rodriguez) องค์กรศูนย์การวิจัยเพื่อการพัฒนา (International Development Research Centre : IDRC) ประเทศแคนาดา กล่าวว่า ปัจจุบันประชากรสูงอายุขึ้นโดยมีเด็กน้อยลงและผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นทุกแห่งทั่วโลกรวมทั้งทวีปเอเชีย ซึ่งในเอเชียกระขบวนการสูงอายุของประชากรมีผลมาจากการเกิดลงลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความสำเร็จของโครงการวางแผนประชากรและวางแผนครอบครัวตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจและในประเทศเอเชียส่วนใหญ่คาดว่าการลดอัตราการเกิดนี้จะต่อเนื่องไปอีกนานในอนาคต ในขณะที่การที่ประชาชนอายุยืนยาวขึ้นจะเร่งให้ประชากรสูงอายุเร็วขึ้น

เวลาที่ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ช่วงชีวิตของการทำงานมีรายได้จะยาวหรือมากกว่าช่วงที่ใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ในกรณีเช่นนี้จะเป็นผลดีต่อมาตรฐานการครองชีพและการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ตรงข้าม เมื่อประชากรสูงอายุขึ้น (ประชากรส่วนใหญ่มีอายุมาก)จะกระทบกระเทือนเศรษฐกิจ ปริมาณแรงงาน การออม และการสะสมทุนตลอดจนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความยากจนรวมทั้งสถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลประชากรวัยหนุ่มสาวและผู้สูงอายุในเอเชีย

องค์กรศูนย์การวิจัยเพื่อการพัฒนา(International Development Research Centre : IDRC) ประเทศแคนาดา ได้ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยระดับภูมิภาคที่ NUPRI ร่วมกับ TDRI ร่วมมือกับนักวิชาการและสถาบันวิจัยจาก 5 ประเทศในเอเชีย (จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม) ดำเนินการทำการศึกษาปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2553 โดยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับนักวิจัยจากประเทศอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยโครงการวิจัยนี้ใช้กรอบคิดเรื่อง บัญชีการโอนประชาชาติ (National Transfer Accounts : NTA) ซึ่งพัฒนาโดยศาสตราจารย์ โรนัล ลี จากมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย เบิร์คเลย์ และศาสตราจารย์แอนดรู เมสัน จากมหาวิทยาลัยฮาวาย มาโนอา การวิจัยนี้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของการเปลี่ยนแปลงทางประชากรใน 5 ประเทศในเอเชียในส่วนที่เกี่ยวกับกลไกทางการคุ้มครองทางสังคมสำหรับประชากรสูงอายุ

ศาสตราจารย์แอนดรู เมสัน จากมหาวิทยาลัยฮาวาย มาโนอา กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายเกี่ยวกับNTAในมุมมองสากล โดยระบุว่า บัญชีเงินโอนประชาชาติเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ชนิดหนึ่งที่มาช่วยเติมเต็มข้อมูลการใช้และการสะสมทรัพยากรทางเศรษฐกิจของคนในวัยต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมสำหรับการโอนทรัพยากรของคนระหว่างรุ่นมาใช้เพื่อการรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประชากรกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งจะมีมากขึ้นในอนาคต ต้องมีการเตรียมความพร้อมของทุกช่วงวัย ทั้งวัยเด็ก วัยแรงงาน และวัยสูงอายุ ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานให้พวกเขาอย่างต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินและสามารถยกระดับมาตรฐานการครองชีพสำหรับทุกคนได้ เป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่าสำหรับอนาคต

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่การดูแลผู้สูงอายุมักมาจากการโอนเงินระหว่างสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเป็นข้อดีของโครงสร้างครอบครัวในเอเชีย แต่ปัญหาตอนนี้คือ โครงสร้างประชากรแก่ตัวรวดเร็วมาก คนทำงานมีน้อยกว่าคนแก่ที่จะต้องเป็นภาระในการเลี้ยงดู ขณะที่ภาครัฐดูแลได้ในระดับหนึ่งสำหรับกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสซึ่งก็ต้องเป็นการใช้เงินจากภาษีมาใช้จ่าย ดังนั้น คำถามในเชิงนโยบายคือ อาจจะต้องยืดอายุการทำงานของผู้สูงอายุที่ยังทำงานออกไป ซึ่งจะช่วยลดภาระลงเพราะคนแก่ที่ยังทำงานอยู่ก็ไม่ต้องเป็นภาระให้ลูกหลานเลี้ยงดู ส่วนนโยบายอื่นก็ควรเพิ่มผลิตภาพของวัยทำงานในปัจจุบันเพื่อให้สามารถเหลือเงินสำหรับการดูแลตัวเองในวัยสูงอายุ หรือวัยเกษียณมากขึ้น โครงการนี้เน้นเรื่องการโอนระหว่างภายในครัวเรือนและการโอนภาคเอกชนกับการโอนภาครัฐ การออมของไทยอาทิในส่วนของกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพนั้น มองว่ายังมีข้อน่ากังวลที่ควรต้องปรับปรุง เนื่องจากกำหนดอายุเกษียณไว้น้อยเกินไปที่ 55 ปี อัตราการสมทบต่ำ และเป็นระบบการจ่ายแบบกำหนดผลประโยชน์ไม่ใช่การจ่ายตามเงินที่จ่ายสมทบ ด้วยระบบแบบนี้เมื่อเข้าสู่ช่วงที่มีประชากรสูงอายุมากกว่าวัยแรงงานก็จะเกิดปัญหา ขาดทุน แต่กองทุนชราภาพนี้จำเป็นต้องคงอยู่ โดยมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเพิ่มอายุเกษียณ เพิ่มอัตราเงินสมทบ และยกเพดานเงินสมทบให้เพิ่มขึ้นจาก 1.5 หมื่นบาทเป็น2หมื่นบาท เป็นต้น

ด้านนางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ส่งผลกระทบทำให้ตลาดแรงงานตึงตัว และหากจะเพิ่มประชากรโดยคนหนุ่มสาวมีลูกมากก็เป็นไปได้ยาก และแทบเป็นไม่ได้เลย เมื่อประชากรเป็นข้อเท็จจริงที่ค้นพบ เราจึงมุ่งไปที่การเพิ่มคุณภาพประชากรตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงสิ้นอายุขัยของเขา นั่นคือ จะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพประชากรตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งถึงวัยชรา เพื่อให้ได้ประชากรคุณภาพ เมื่อถึงวัยทำงานก็เป็นแรงงานที่มีผลิตภาพสูง พร้อมทั้งเตรียมตัวเป็นคนแก่ที่ใช้ชีวิตให้มีคุณภาพได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องทำให้สังคมทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงผลกระทบของการเป็นประชากรสูงวัย ซึ่งไม่ควรคิดว่าแค่การดูแลคนแก่ แต่ต้องดูถึงว่าจะเตรียมคนหนุ่มสาวให้มีความมั่นคงในอนาคตอย่างไร สิ่งที่ต้องทำคือเรื่องทั้งการออมและการเพิ่มทักษะชีวิตด้วย.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ