นอกจากนี้อาจจะกล่าวได้ว่า จังหวัดสมุทรปราการเป็นต้นธารประวัติศาสตร์ มีทั้งเหตุการณ์ และนวัตกรรม เริ่มต้นขึ้นที่นี่มากมาย เช่น รถไฟสายแรก โทรเลข ธงชาติผืนแรก ป้อมปืนที่สำคัญ ปัจจุบันพบว่าพื้นที่แต่ละอำเภอ ยังพบร่องรอยทางประวัติศาสตร์หลงเหลืออยู่ หากไม่รวบรวมรักษาไว้ คุณค่าทางประวัติศาสตร์จะถูกลบเลื่อนหายไปจากการเป็นเมืองอุตสาหกรรม อุทยานการเรียนรู้และหอชมเมือง จะรวบรวมข้อมูลหลักฐานเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ วิทยาการใหม่ๆ เยาวชนประชาชนและนักท่องเที่ยวจะได้มีความเข้าใจและเห็นภาพมากขึ้น ซึ้งหอชมเมืองจะเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดในประเทศไทย สามารถมองเห็นไปใกลถึงเกาะสีชัง ทะเลปากอ่าว ร่องน้ำเจ้าพระยา ป้อมพระจุล ป้อมผีเสื้อสมุทร และพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ
อุทยานการเรียนรู้และหอชมเมืองสมุทรปราการ” เป็นอาคารสูง 179.55 เมตร มีพื้นที่ 13,584.70 ตารางเมตร อยู่บนพื้นที่เรือนจำเดิม 13 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวาประกอบด้วย
1. พิพิธภัณฑ์เด็ก เน้นรูปแบบการเรียนรู้แบบบูรณาการ และการเรียนรู้แบบลงมือ ผ่านชุดนิทรรศการทันสมัย เพื่อกระตุ้นจินตนาการและความสงสัย เพื่อเป็นพื้นฐานการพัฒนาทางความคิด และพัฒนาสังคมในอนาคต
2. พิพิธภัณฑ์สมุทรปราการ นำเสนอเรื่องราวประวัติความเป็นมาของ จังหวัดสมุทรปราการ และมีอัตลักษณ์ของตนเองถึงชาติพันธุ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การพัฒนาเมือง
3. ห้องสมุด รวบรวมหนังสือ สื่อทันสมัย และสื่อการเรียนการสอน ไว้บริการแก่สถาบันศึกษาต่างๆ ภายในจังหวัด
4. หอชมเมืองสมุทรปราการ ชั้นบนสุดสามารถมองเห็นลำน้ำเจ้าพระยาถึงกรุงเทพฯ หอชมเมืองสมุทรปราการสูง 179.55 เมตร จุดชมวิวของเมืองปากน้ำ และความงามตามธรรมชาติ
โดยวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 09.00 น. อบจ. สมุทรปราการ ได้จัดพิธีบวงสรวงลงเสาเอก เป็นพิธีอันศักดิ์สิทธ์ และเป็นมงคลฤกษ์งามยามดี แก่การก่อตั้งอุทยานการเรียนรู้-หอชมเมืองสมุทราปราการหลังจากรอคอยมายาวนานกว่า 10 ปี ถือได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจครั้งประวัติศาสตร์ ของพี่น้องชาวสมุทรปราการ ที่วันนี้สามารถสานฝันให้เป็นจริง เป็นความมุ่งมั่นและตั้งใจในการดำเนินงานอย่างจริงจังมาโดยตลอด สำหรับการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไปโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายในปี พ.ศ. 2558
“อุทยานแห่งนี้ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก อบจ. สมุทรปราการ 593 ล้านบาท และเทศบาลนครสมุทรปราการ 54 ล้านบาท หวังว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ โบราณคดี การดำรงรักษาสิ่งอันเป็นมรดกล้ำค่าทางด้านประวัติศาสตร์ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมด้านแหล่งท่องเที่ยวใน จ. สมุทรปราการ สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอันเป็นผลจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ.2558 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และจังหวัดสมุทรปราการ ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการท่องเที่ยว" นายชนม์สวัสดิ์กล่าว