ด้าน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า การใช้สารเติมเต็ม หรือฟิลเลอร์ สำหรับ รักษาปัญหาผิวพรรณนั้น ใช้หลักการ คือ ผิวหนัง ซึ่งจะมีส่วนประกอบหลักที่สำคัญ คือ ใยคอลลาเจน มีหน้าที่สำคัญโดยเป็นองค์ประกอบที่ให้ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นแก่ผิวหนัง ทำให้ผิวพรรณมีรูปทรงเต่งตึง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเข้าสู่วัยชรา พบว่าใยคอลลาเจนจะค่อยๆ มีจำนวนลดน้อยลง มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผิวหนังจะมีลักษณะบางลง เกิดริ้วรอยริ้วรอยเหี่ยวย่น เพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าว จึงมีความ
พยายามหาทางแก้ไขโดยการฉีดสารจากภายนอกเข้าไปในผิวหนังเพื่อทดแทนใยคอลลาเจนที่สลายไปหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “Filler”
ทั้งนี้ประเภทขอสารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์ (Filler) แบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ ได้แก่ 1. แบบชั่วคราว (Temporary Filler) มีอายุใช้งานประมาณ 4 - 6 เดือน แต่มีความปลอดภัยสูง สลายตัวได้เองตามธรรมชาติ 2. แบบกึ่งถาวร (Semi Permanent Filler) มีอายุใช้งานประมาณ 2 ปี มีความปลอดภัยปานกลาง และ3.แบบถาวร (Permanent Filler) เช่น ซิลิโคน หรือ พาราฟิน หลังฉีดแล้วจะอยู่ในผิวตลอดไป ไม่สลายตามธรรมชาติ มักพบผลข้างเคียงระยะยาว
นพ.จินดา กล่าวต่อว่า ข้อชี้บ่งสำหรับการรักษาปัญหาผิวพรรณในปัจจุบันสารเติมเต็ม หรือฟิลเลอร์ (Filler) จะถูกนำมาใช้รักษาทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย เราสามารถใช้ Filler กับการรักษาปัญหาผิวพรรณได้ โดยการแก้ไขปัญหาริ้วรอยของผิวอันเนื่องมาจากวัย เช่น ริ้วรอยบริเวณหน้าผาก หางตา และร่องแก้ม ซึ่งสามารถ
แก้ไขได้ด้วย Filler โดยการฉีด Filler จะสามารถเติมเต็มใยคอลลาเจนที่หายไป ทำให้ริ้วรอยบริเวณดังกล่าวตื้นขึ้น สภาพผิวดูดีขึ้น การแก้ไขปัญหาแผลเป็นชนิดผิวบุ๋ม เช่น การเกิดแผลบุ๋มจากสิวอักเสบ เป็นต้น กรณีดังกล่าวนี้
สามารถใช้ Filler เติมเต็มทำให้แผลบุ๋มดีขึ้น อย่างไรก็ตามต้องเลือกชนิดแผลผิวบุ๋มที่เหมาะสมต่อการรักษา โดย แผลนั้นต้องไม่มีพังผืดในบริเวณใต้แผลบุ๋ม มิฉะนั้นผลการรักษาจะไม่ดีเท่าที่ควร และการใช้ Filler ฉีดเพื่อเสริมเนื้อเยื่อผิวหนังให้มีลักษณะนูนเต็มขึ้นกว่าเดิม (Augmentation) เช่น เสริมจมูก เสริมคาง ริมฝีปาก หรือฉีดเพื่อทำให้รูปทรงของหน้าดูอวบอิ่มกว่าเดิมแต่ทั้งนี้ปัญหาแทรกซ้อนภายหลังการฉีดสารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์(Filler) เกิดขึ้นได้ จะเห็นได้ว่าเราสามารถใช้ Filler ฉีดเพื่อเติมเต็มให้แก่เนื้อเยื่อได้หลาย ๆ ส่วน อย่างไรก็ตามผู้ที่ทำการรักษาต้องเลือกชนิด และขนาดโมเลกุลของ Filler ให้เหมาะสมกับผิวหนังในแต่ละตำแหน่ง และควรใช้ Filler ที่มีคุณภาพมีความปลอดภัยสูงเพราะต้องฉีดเข้าไปในร่างกายของเรา และผลิตภัณฑ์ควรได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของ
ประเทศไทยหรือสหรัฐอเมริกา มิฉะนั้นอาจเกิดผลข้างเคียงหรือาการแทรกซ้อนได้ เช่น 1. การเกิดผื่นแดงบริเวณที่ฉีด Filler เกิดจุดแดงหรือจ้ำเลือดอันเนื่องมาจากรอยเข็มที่ฉีด ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปได้เอง 2.เกิดรอยนูนมากเกินไปแก่ผิวหนังบริเวณที่ทำการรักษาเนื่องจากเลือกใช้ Filler ที่มีขนาดโมเลกุลไม่เหมาะสม หรือฉีดตื้นเกินไป เช่น ถ้าต้องการแก้ไขริ้วรอยตื้นๆที่อยู่บริเวณหางตา ควรเลือกใช้ Filler ที่มีขนาดโมเลกุลเล็กๆเพื่อมิให้เกิดรอยนูนบนผิว 3.เกิดปัญหาการเคลื่อนย้าย (migration) เช่นฉีดดั้งจมูกแล้ว Filler เคลื่อนไหลไปที่ปลายจมูก
ดังนั้นถ้าต้องการฉีด Filler เพื่อเสริมคางหรือจมูก ต้องเลือก Filler ที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ เพื่อให้ Filler ชนิดนั้นมีความหนืดเพิ่มมากขึ้น ช่วยลดปัญหาการเคลื่อนย้ายจากบริเวณที่ฉีด และทำให้มีอายุใช้งานได้ยาวนานขึ้นอีกด้วย 4. อาการแพ้สาร Filler ที่ให้ลักษณะเป็นก้อนนูนแดงอักเสบ อาการแพ้ชนิดนี้บางครั้งอาจพบได้ภายหลังการฉีด Filler ผ่านพ้นไปแล้วเป็นเวลาหลายๆ เดือนหรือเป็นปีๆ ทั้งนี้ขึ้นกับอายุใช้งานของ Filler ชนิดนั้นๆ และปัญหาที่ร้ายแรงที่สุด คือ 5. การที่ฉีด Filler ผิดตำแหน่งโดยฉีดเข้าไปในหลอดเลือด อาจทำให้
เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้ โดยพบผู้ที่ไปฉีดFiller แล้วเกิดตาบอด เนื่องมาจาก Filler ที่ฉีดเกิดไปอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตา มีผลทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ โดยที่ขณะนี้พบในประเทศไทยและต่างประเทศแล้ว นอกจากนี้เมื่อเข้าเส้นเลือดอาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นขาดเลือดไปเลี้ยง เป็นแผลเนื้อตายอีกด้วย
โดยสรุปการใช้ Filler เพื่อรักษาปัญหาริ้วรอยเหี่ยวย่น หรือเพื่อใช้เสริมสัดส่วนผิวหนังในบริเวณต่างๆ ให้ผลการรักษาที่ดี สามารถเห็นผลการรักษาได้ในทันที ผู้ที่มารับบริการค่อนข้างได้รับความสะดวก เนื่องจากเป็นการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดที่มากจนเกินไป ไม่เกิดบาดแผล ง่ายต่อการดูแล ไม่ต้องเสียเวลาพักฟื้นร่างกาย ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้การรักษาปัญหาผิวพรรณด้วย Filler เป็นที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามควรใช้ตามข้อบ่งชี้ และเลือกใช้ชนิดของ Filler ให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลข้าง
เคียงอันไม่พึงประสงค์
ด้าน ผศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้าภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากการฉีดเสริมจมูกด้วยฟิลเลอร์เป็นที่นิยมเพราะคนส่วนใหญ่เห็นว่าทำง่ายเหมือนฉีดยา ไม่บอบช้ำเหมือนการผ่าตัด ใช้เวลาไม่กี่นาที สามารถกลับไปทำงานได้ทันที ทำให้มีการฉีดเสริมจมูกกันอย่างแพร่หลายจึงพบว่า มีผู้ป่วยตาบอดจากการฉีดเสริมจมูกมากกว่าการฉีดที่บริเวณอื่นชัดเจน แสดงให้เห็นว่าบริเวณจมูกเป็นบริเวณที่เสี่ยงอันตราย เนื่องจาก มีแขนง
หลอดเลือดจำนวนมาก ที่บริเวณจมูกที่เชื่อมต่อกับระบบหลอดเลือดของประสาทตาและสมองโดยตรง จึงขอให้หลีกเลี่ยงการเสริมจมูกด้วยวิธีนี้ เนื่องจากไม่คุ้มค่าความเสี่ยงตาบอดเพื่อแลกกับการทำให้จมูกโด่งเพียงชั่วคราว แม้แต่ฟิลเลอร์ที่อ.ย. รับรองก็อาจเกิดตาบอดได้เช่นกัน เพราะอาการตาบอดไม่ได้เกิดจากคุณภาพของสารที่ฉีดแต่เกิดจากกระบวนการฉีดที่มีการรั่วไหลของฟิลเลอร์เข้าไปอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงประสาทตาทำให้ตาบอดถาวรตลอดชีวิต
ขณะนี้มีฟิลเลอร์ที่ห้ามฉีด และประชาชนหลงไปฉีดจำนวนมาก ฟิลเลอร์ชนิดที่ประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อและนิยมไปฉีดในปัจจุบัน คือสาร polyacrylamide ซึ่งมีชื่อการค้าอื่นหลายชื่อสารนี้ไม่สลายตัว แต่มักถูกโฆษณาหลอกลวงว่าสลายตัวช้าอยู่ได้หลายปี ประชาชนส่วนใหญ่มักหลงเชื่อนิยมไปฉีดสะโพกหรือฉีดเสริมหน้าอก โดยสามารถฉีดเป็นจำนวนมาก หลายร้อยซีซีหรือเป็นกิโลกรัม ในราคาที่ไม่แพง หากเกิดภาวะแทรกซ้อนไม่สามารถแก้ไขได้เลย เช่น หากสารรั่วไหลเข้าเส้นเลือดไปอุดปอดหรือสมองก็อาจโคม่าหรือ
เสียชีวิต
นอกจากนี้ยังมีผู้รายงานว่าพบมะเร็งเต้านมชนิดร้ายแรงในผู้ป่วยที่ฉีดเต้านม ทำให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ฟิลเลอร์ชนิดนี้ไม่ได้รับการรับรองจากอ.ย. แต่มีการลักลอบนำมาใช้ฉีดกันอย่างแพร่หลายทั้งผู้ที่เป็นแพทย์จริงและแพทย์เถื่อน ประชาชนควรระมัดระวังและห้ามไปเชื่อหลงฉีดเด็ดขาด ก่อนฉีดต้องตรวจสอบกับแพทย์ที่ฉีดให้ชัดเจนถ้าสงสัยให้ปฏิเสธหรือเลื่อนไปก่อน แล้วไปถามความเห็นแพทย์ที่อื่นเพื่อความมั่นใจมีบางรายไปฉีดสารมาแต่ตนเองไม่รู้ว่าฉีดสารอะไรและมาพบอันตรายแทรกซ้อนในภายหลังทำให้ต้องทรมานไปตลอดชีวิต
ด้าน ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์ ประธานประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์ (Filler) ในประเทศไทยได้จัดประเภทของสารเติมเต็มไว้เป็นยา การนำเข้าต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งได้รับเพียงไม่กี่ชนิด ตัวอย่างของสารเติมเต็มที่ผ่าน อย.ได้แก่ กลุ่ม ที่ 1 Esthelis Basic, Esthelis Soft, Fortelis Extra, Modelis กลุ่มที่ 2 Juvederm Forma , Juvederm Refine, Juvederm Ultra, Juvederm Ultra XC, Juvederm Ultra Plus, Juvederm Ultra Plus XC และกลุ่มที่ 3 Restylane, Restylane Lipp, Restylane Perlane, Restylane Sub Q, Restylane Touch, Restylane Vital Light ,Restylane Vital Light Injector, Revanesse Ultra สามารถตรวจสอบข้อมูลของสารเติมเต็มที่ได้ อย.หรือที่เว็บไซต์ http://drug.fda.moph.go.th/zone_service/files/new_gen_list_July.pdf,http://fdaolap.fda.moph.go.th/logistics/drgdrug/Dserch.asp ซึ่งเป็นข้อมูลเมื่อ 31 กรกฎาคม 2555 และ 16 กันยายน 2555 ถ้านอกเหนือจากสารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์ (Filler) ชนิดอื่น ๆ ถือว่าเป็นสารเติมเต็มที่ผิดกฎหมาย และควรฉีดสารเติมเต็มโดยแพทย์เท่านั้น สามารถตรวจสอบรายชื่อแพทย์ผิวหนังได้ที่ http://www.dst.or.th/list_search.php การฉีดสารเติมเต็ม ควรฉีดในสถานพยาบาลที่มีอุปกรณ์พร้อม มีความสะอาด และฉีดด้วยสารเติมเต็มที่ผ่าน อย.เท่านั้น และต้องถามแพทย์ที่ฉีดทุกครั้งว่า ฉีดสารเติมเต็มชนิดไหน ยี่ห้ออะไร หากมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามที่ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย โทร. 02-716-6857 เว็บไซต์ www.dst.or.th หรืออีเมล์ [email protected]
สื่อมวลชนสอบถามเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง) บริษัท คอร์แอนด์ พีค จำกัด
โทรศัพท์ 02-439-4600 ต่อ 8202
อีเมลล์ [email protected]