สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ประเดิมจับมือกรมบังคับคดี หวังปูฐานจับระบบไอทีกระบวนการยุติธรรมเข้าคลาวด์

อังคาร ๐๒ ตุลาคม ๒๐๑๒ ๑๖:๐๔
สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ประเดิมจับมือกรมบังคับคดี หวังปูฐานจับระบบไอทีกระบวนการยุติธรรมเข้าคลาวด์และ GIN ประเดิมใช้ 4 บริการ เชื่อมโยงทั้งในและนอก ประชาชนเกิดประโยชน์อื้อ

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ อธิบดีกรมบังคับคดี หรือ กบค. เปิดเผยว่า ขณะนี้กบค.ได้นำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและบริการประชาชนเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบงานการบังคับคดีแพ่ง ซึ่งเป็นระบบการปฏิบัติงานในระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดทุกภาค ที่สำคัญได้วางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีเพื่อรองรับการปฏิบัติงานของระบบการบริหารทั้งหมด โดยต้องลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของงบดำเนินงาน การตรวจสอบและระบบรักษาความปลอดภัยของระบบ การเตรียมความพร้อมในส่วนของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายที่จะต้องใช้งานเพื่อรองรับการปฏิบัติงานที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงการส่งเสริมให้ระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Service ที่เป็น Portal กลางของภาครัฐสามารถบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง จึงร่วมกันทำงานกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือสรอ. จนนำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อใช้งานบริการระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือ Government Cloud Computing ระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network : GIN) ระบบ Government Monitoring และระบบ e-Portal

หลังจากทำบันทึกข้อตกลงกับสรอ.แล้ว ทางกบค.จะเริ่มนำระบบทั้งหมดมาใช้ทันที โดยเบื้องต้นจะเน้นที่ 3 ระบบก่อนคือ 1. ระบบ Government Cloud Computing เพื่อเป็นการตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัยทางด้านไอทีทั้งหมดของกบค.อีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของการเข้าใช้ข้อมูลที่น่าสงสัย ซึ่งสรอ. มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบแบบ 24/7 หรือตลอดเวลาไม่มีหยุดพัก โดยจะตรวจสอบการใช้งาน หรือ Log File และการใช้งานระบบเครือข่าย เป็นการช่วยเพิ่มความมั่นคงและปลอดภัยในระบบไอทีของกบค. 2. ระบบ e-Portal ในเบื้องต้นจะใช้เชื่อมต่อระบบตรวจสอบบุคคลล้มละลาย ซึ่ง กบค. มีบริการในส่วนนี้อยู่แล้ว และเป็นที่ใช้งานอย่างแพร่หลาย ส่วนระยะถัดไประบบจะเข้ามาตรวจสอบสถานะคดีแพ่ง ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบสิทธิ์ในการเข้าใช้หรือ Authorize ของบุคคลให้สามารถตรวจสอบได้เฉพาะข้อมูลที่บุคคลนั้นเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เป็นต้น

ส่วนระบบที่ 3 คือ ระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ หรือ GIN ในระยะนี้ กบค.ตั้งเป้าหมายหลักในการนำระบบนี้มาใช้คือ ลดค่าใช้จ่ายระบบเครือข่าย ซึ่งเดิมกบค.ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก สำหรับเป้าหมายต่อไปนั้น กบค.จะใช้งานระบบแบบเต็มรูป จะมีการตรวจสอบ Concurrent และ Traffic การใช้งานว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยการใช้บริการของ GIN สามารถเพิ่มแบนด์วิธได้ตามการใช้งานจริง จึงมีความยืดหยุ่นและเหมาะสม รวมถึงประหยัดงบประมาณภาครัฐด้วย

ระบบของสรอ.ที่กบค.จะนำใช้งานในอนาคต ได้แก่ ระบบคลาวด์ภาครัฐ เนื่องจากเครื่องเซิร์ฟเวอร์และระบบปฏิบัติการที่สรอ. มีในขณะนี้ยังไม่สนับสนุนกับระบบของ กบค. ซึ่งใช้อยู่ในขณะนี้ ดังนั้นจำเป็นต้องประสานงานระหว่างสองหน่วยงานต่อไปอีกช่วงระยะหนึ่งเพื่อทดสอบการใช้งาน ทั้งนี้ระบบคลาวด์ภาครัฐที่กบค. ต้องการใช้ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายทำหน้าที่ฐานข้อมูล มีระบบปฏิบัติการแบบ Solaris 9 ขึ้นไป หรือแบบ HP-UX ซึ่งมีระบบฐานข้อมูลแบบ Oracle Enterprise 10g ขึ้นไป เพื่อใช้งานระบบงานบังคับคดีแพ่งที่พัฒนาโดยภาษา Java และระบบ Business Intelligent หรือ BI ในการวิเคราะห์วางแผนการปฏิบัติงาน

ปัจจุบันกบค. มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงหรือ MOU เชื่อมโยงกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในส่วนของภาครัฐที่กบค. ต้องตรวจสอบข้อมูล เช่น ข้อมูลที่เชื่อมโยงกับกรมการปกครอง ข้อมูลกับกรมที่ดิน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นต้น การเข้ามาใช้ระบบ GIN จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการเช่าระบบเครือข่าย Lease Line ลงได้ และในส่วนของการส่งข้อมูลที่จะต้องประสานงาน เช่น สตม. กรมที่ดิน หน่วยงานอื่นสามารถเชื่อมโยงระบบของ กบค. ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จายในการเช่าระบบเครือข่าย รวมถึงเป็นการประหยัดพื้นที่ในการจัดวางอุปกรณ์ระบบเครือข่าย และการดำเนินการอื่น ๆ ด้วย

“จำนวนสาขากบค. รวมทั้งหมด 108 สาขาทั่วประเทศ และมีสถานรักษาทรัพย์และโกดังเก็บสำนวนอีก 2 แห่ง รวม 110 แห่ง ซึ่งหากใช้งานระบบเครือข่าย GIN แบบเต็มรูปแบบจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท” ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ กล่าว

การเชื่อมโยงระบบของกบค. กับ สรอ. หลังจากลงบันทึกข้อตกลงแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์ในการเข้าถึงระบบแบบเบ็ดเสร็จ รวมถึงสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ระบบมีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ นอกจากนั้นยังทำให้กระบวนการบังคับคดีสามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนการปฏิบัติงาน และสถานะการปฏิบัติงานว่าดำเนินการถึงขั้นตอนใด สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านทางเว็บไซต์ที่เปิดให้บริการสำหรับการปฏิบัติงานด้านการบังคับคดีแพ่งได้ ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการบังคับคดีในสังคมได้มากยิ่งขึ้น

สำหรับแอพพลิเคชันใหม่ๆ ที่กบค. จะนำมาไว้บนบริการของสรอ. หลักๆ ได้แก่ระบบงานบังคับคดีแพ่ง ซึ่งเป็น Operation ของกบค. ส่วนระบบอื่นๆ ที่เป็นระบบการให้บริการประชาชน เช่น ระบบตรวจสอบข้อมูลบุคคลล้มละลาย กบค. ก็จะนำไปอยู่บนบริการของสรอ. เช่นกัน ในอนาคตกบค. จะนำระบบงานบังคับคดีล้มละลาย และระบบงานอื่นๆ ตามภารกิจหลักขึ้นบนบริการของสรอ. ทั้งหมด

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสรอ. เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลง หรือ MOU กับกรมบังคับคดี หรือกบค. ในครั้งนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์ของสรอ. ในการที่จะนำข้อมูลของกระบวนการยุติธรรมมาอยู่ในบริการของสรอ.ทั้งหมดในอนาคตอันใกล้ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานยุติธรรมทั้งหมดได้จัดทำโครงการศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรม หรือ DXC อยู่แล้ว เมื่อกบค.เข้าสู่ระบบของสรอ.แล้วโอกาสที่อีก 14 หน่วยงานในโครงการ DXC จะเข้ามาด้วยก็มีความเป็นไปได้สูง

จากเป้าหมายของสรอ.ในโครงการ DXC นั้นจะประกอบไปด้วย 1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มี ฐานข้อมูลประกาศสืบจับ, ฐานข้อมูลผู้กระทำผิดกฎหมาย, ฐานข้อมูลคดีรถหาย, ฐานข้อมูลคดีคนหาย 2. สำนักงานอัยการสูงสุด ที่มีฐานข้อมูลสาระบบคดี 3. กรมราชทัณฑ์ ที่มี ฐานข้อมูลผู้ต้องขัง 4. กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่มี ฐานข้อมูลเยาวชนผู้กระทำผิด5. กรมคุมประพฤติ ที่มี ฐานข้อมูลผู้ถูกคุมประพฤติ, ฐานข้อมูลอาสาสมัครคุมประพฤติ6. กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI 7. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ที่มี ฐานข้อมูลผู้ต้องหาคดียาเสพติด 8. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่มี ฐานข้อมูลคดี 9. กรมการปกครอง ที่มี ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร 10. กรมการขนส่งทางบก ที่มี ฐานข้อมูลทะเบียนรถยนต์, ฐานข้อมูลใบขับขี่รถยนต์

11. สำนักงานกิจการยุติธรรม 12. สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม 13. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า) ที่มี ฐานข้อมูลข้อมูลบุคคล (ครัวเรือน), ฐานข้อมูลข้อมูลบุคคล (ศบย.), ฐานข้อมูลข้อมูลบุคคล (หมายจับ ป.วิอาญา), ฐานข้อมูลข้อมูลบุคคล (เป้าหมาย), ฐานข้อมูลข้อมูลบุคคล (ปปส.), ฐานข้อมูลข้อมูลบุคคล (ใบขับขี่), ฐานข้อมูลข้อมูลบุคคล (ทะเบียนรถ), ฐานข้อมูลข้อมูลบุคคล (หนังสือเดินทาง)14. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี ฐานข้อมูลการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบฯ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้, ฐานข้อมูลบุคคลสูญหาย, ฐานข้อมูลร้องเรียนความไม่เป็นธรรม ซึ่งมีหลายหน่วยงานเริ่มเข้ามาใช้บริการของสรอ.แล้ว และหากฐานข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมดสามารถเชื่อมโยงถึงกันบนบริการของสรอ. ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านการลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และความปลอดภัย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ