โดยพบการระบาดของโรคติดต่อสำคัญในช่วงเกิดอุทกภัยปี 54 มีรายงานผู้ป่วยโรคฉี่หนู 1,301 ราย เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วมพบว่ามีมากถึง 1,372 ราย โรคไข้เลือดออก มีรายงานผู้ป่วย 10,515 ราย เทียบกับช่วง 5 ปีย้อนหลังมีผู้ป่วย 13,310 ราย และโรคอุจจาระร่วงมีรายงานผู้ป่วย 197,680 ราย เทียบกับช่วง 5 ปีย้อนหลังมีผู้ป่วย 261,531 ราย
รมว.กระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อว่า จากนโยบายของรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและบรรเทาผลกระทบด้านสุขภาพจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 54 กระทรวงสาธารณสุขรับหน้าที่เป็นหน่วยงานหลัก ในการเตรียมความพร้อม และดำเนินงานเชิงรุกในการเข้าถึงประชาชนได้ทันต่อสถานการณ์ปัญหา ทั้งการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งได้มอบเป็นนโยบายให้กรมควบคุมโรคเป็นแกนกลางดำเนินภารกิจป้องกันควบคุมไม่ให้เกิดโรคระบาดสำคัญ เพราะจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภัย โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และประชาชน และความร่วมมือทางด้านวิชาการจากองค์การอนามัยโลก และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข และการสนับสนุนเวชภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จากองค์การระหว่างประเทศและจากหลายประเทศ ทำให้น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 54 ประเทศไทยจึงไม่เกิดการระบาดของโรคติดต่อที่สำคัญ
ทั้งนี้จากการถอดบทเรียนความสำเร็จน้ำท่วมปี 54 ที่ผ่านมา พบว่ากรมควบคุมโรคได้ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคในภาวะอุทกภัย โดยใช้ระบบการบัญชาการเหตุการณ์ที่ได้มีการเตรียมระบบล่วงหน้าไว้แล้ว ทำให้สามารถดำเนินงานอย่างมียุทธศาสตร์ และสามารถกำกับติดตามหน่วยงานทุกหน่วยงานของกรมควบคุมโรค ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ให้ดำเนินงานบูรณาการสอดคล้องกัน ส่งผลให้ไม่เกิดโรคระบาดสำคัญขึ้นในประเทศ ช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนได้มาก จึงมั่นใจว่าบทเรียนที่ได้รับจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี54ที่ผ่านมา จะสามารถนำมาปรับใช้ในการรับมือกับเหตุการณ์น้ำท่วมปี55นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“อย่างไรก็ตามเพื่อความไม่ประมาทขอให้ประชาชนตระหนักในการป้องกันตนเองจากโรคและภัยที่มากับน้ำ และที่สำคัญคือการระมัดระวังเรื่องการจมน้ำเสียชีวิตและอุบัติเหตุจากไฟฟ้าดูด เพราะประสบการณ์จากน้ำท่วมเมื่อปี 2554ที่ผ่านมา พบว่าการจมน้ำและไฟฟ้าดูดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุด ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 10 ราย สาเหตุจากการจมน้ำ 8 ราย ไฟฟ้าดูด 1 ราย และไม่ระบุสาเหตุ 1 ราย”ดังนั้นก่อนลงน้ำควรสวมเสื้อชูชีพ ใส่รองเท้าบู๊ต หรือสวมถุงพลาสติกก่อนลุยน้ำ ล้างมือ ไม่กินอาหารค้างมื้อ ดื่มน้ำสะอาด เก็บเศษอาหารและขยะใส่ถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่น ระวังอย่าให้ยุงกัด ถ้ามีโรคเรื้อรังอย่าลืมรับประทานยาประจำตัว หากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด ถ้ามีอาการป่วยรีบแจ้งหน่วยแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านอย่าปล่อยไว้เกิน 2 วัน สวมหน้ากากอนามัย และปิดปาก จมูก เวลาเป็นหวัด เมื่อมีอาการท้องเสียให้ดื่มผงเกลือแร่โอ อาร์ เอส หลังน้ำลดอย่าลืมนำเด็กไปฉีดวัคซีนตามนัดฯลฯ รมว.กระทรวงสาธารณสุขกล่าว
ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้ประเทศไทยไม่เกิดการระบาดของโรคติดต่อที่สำคัญ เกิดจากดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 2P 2R คือPrevention(การป้องกัน) Preparedness(การเตรียมพร้อม) Response(การตอบโต้) และ Recovery (การฟื้นฟู) ได้แก่ 1.Prevention (การป้องกัน)มีการจัดเตรียมสถานพยาบาลและหน่วยปฏิบัติการไม่ให้ถูกน้ำท่วมและเตรียมแผนประคองกิจการ ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้แม้ว่าสถานที่และเจ้าหน้าที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมก็ตาม 2.Preparedness(การเตรียมพร้อม) มีการจัดเตรียมระบบการสั่งการ การสื่อสารและการพัฒนาบุคลากรในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขต่างๆ การจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ในการป้องกันโรคต่างๆล่วงหน้า เช่น สารเคมีกำจัดแมลงพาหะนำโรค รองเท้าบู๊ทป้องกันโรคฉี่หนู วัคซีนและเวชภัณฑ์ต่างๆ ทำให้เมื่อเกิดอุทกภัยจึงสามารถนำมาใช้ได้ทันที 3.Response(การตอบโต้)ในช่วงเกิดอุทกภัย ประกอบด้วยมาตรการสำคัญ 4 ประการได้แก่ 1.การเฝ้าระวังโรค 2.การป้องกันโรคล่วงหน้า 3.การควบคุมโรคเมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติซึ่งจะมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) จำนวน 1,030 ทีมทั่วประเทศและทีมเสริม 58 ทีม ที่พร้อมจะดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคที่สำคัญเมื่อได้รับรายงานเหตุการณ์ผิดปกติ
และ4.คือการสื่อสารความเสี่ยงถึงประชาชน ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ สื่อเสียง อสม. ฯลฯ โดยกำหนดหลักปฏิบัติง่ายๆ ในการป้องกันโรคเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่1น้ำท่วมหลากให้ระวังอันตรายจากการจมน้ำ ไฟดูด สัตว์มีพิษกัด ระยะที่2 น้ำท่วมขังให้ระวังอันตรายจากโรคฉี่หนู ไข้หวัดใหญ่ โรคอุจจาระร่วง ระยะที่ 3น้ำลดให้ระวังอันตรายจากโรคไข้เลือดออก และการทำความสะอาดบ้านเรือน เพราะการที่ประชาชนผู้ประสบภัย ปฏิบัติตนตามคำแนะนำในการป้องกันโรคถือเป็นการควบคุมโรคระบาดที่มีประสิทธิภาพที่สุด
ด้าน นายแพทย์วัฒนา โรจนวิจิตรกุลนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีกล่าวเสริมว่าผลสำเร็จในการควบคุมป้องกันโรคระบาดจากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอบางกรวย อำเภอบางใหญ่ ที่ผ่านมา เกิดจากการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการทำงานเชิงรุกในระดับพื้นที่ที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ได้รับการอบรมความรู้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดสำคัญๆที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วง โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู โรคตาแดง และภัยจากการจมน้ำ ไฟฟ้าดูด ซึ่งงาน อสม.ของประเทศไทยเป็นรูปแบบหนึ่งที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน เป็นปัจจัยความสำเร็จของงานสาธารณสุขมูลฐานของประเทศไทย และเป็นพลังสำคัญพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่น ขณะนี้ทั่วประเทศมี อสม.จำนวน 1.6 ล้านคน
กลุ่มเผยแพร่ สำนักงานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์:0-2590-3862 / โทรสาร: 0-2590-3386