โดยระบุในหนังสือว่า กลุ่มเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จังหวัดเชียงราย ขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัดการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. และ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 4 ข้อ คือ
1. เร่งรัดให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการ จัดทำสัญญาให้เกษตรกร ตามโครงการปรับโครงสร้างหนี้ฯ ตามมติ ครม.7 เมษายน 2553 ให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2555 หากการดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการและคุ้มครองสิทธิ์ให้กับเกษตรกรตามรายชื่อเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ ตาม มติ ครม. 7 เมษายน 2553
2. เร่งรัดให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร อนุมัติจ่ายเงินสนับสนุนอาชีพเกษตรกร รายละ7,000 บาท ตามมติ ครม. 7 เมษายน 2553 ให้เกษตรกรที่มีคุณสมบัติครบถ้วน
3. เร่งรัดให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร อนุมัติโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรขององค์กรเกษตรกร ที่ได้เสนอต่อสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
4. ให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในการแก้ไขปัญหาเกษตรกร ในเรื่อง การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยการสนับสนุนเงินงบประมาณประจำปีให้ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อดำเนินการอย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรยังมีข้อเสนอไปยัง ธ.ก.ส. แยกย่อยออกไปอีกว่า ให้ ธ.ก.ส. เร่งรัดดำเนินโครงการทั้งต่อผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีของ ธ.ก.ส. และอยู่ในกองทุนฟื้นฟูฯ แต่ไม่ตรงกับ ธ.ก.ส. รวมทั้งขอไม่ให้หักเงินสมาชิกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เข้าร่วมโครงการจำนำข้าว เพื่อชำระหนี้ ธ.ก.ส. รวมทั้งกรณีเกษตรกรเสียชีวิตทาง ธ.ก.ส. ต้องไม่หักเงินสงเคราะห์ศพเพื่อทดแทนการชำระหนี้ด้วย
โดยตัวแทนเกษตรกรให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2553 มีเกษตรกรที่เป็นหนี้สินกับสถาบันการเงินหลักของรัฐที่เดือดร้อนรวมกันประมาณ 11,321 ราย แต่เมื่อมีผู้ที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการเหลืออยู่ประมาณ 3,000 คน แต่ละคนมีหนี้สินเฉลี่ยรายละประมาณ 300,000 บาท รวมหนี้สินทั้งหมดประมาณ 1,500 ล้านบาท
แต่ปรากฏว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผลักให้กองทุนฟื้นฟูฯ ดำเนินการรับเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพียงแค่ 475 รายเท่านั้น ยังเหลือผู้ที่เดือดร้อนอีกมากมาย ขณะที่โครงการจะสิ้นสุดหรือหมดลงแล้วในวันที่ 30 ก.ย. 55 นี้แล้ว
ดังนั้น กลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ใน จ.เชียงราย จึงขอให้เร่งนัดดำเนินการด้วยการให้ ธ.ก.ส. จัดทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกร ตามมติดังกล่าวภายในวันที่ 30 ก.ย. 55 นี้ และให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการออกไปอีกเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิกับเกษตรกร และให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการนี้โดยเฉพาะกองทุนฟื้นฟูฯ ให้มากขึ้น ด้วยการสนับสนุนงบประมาณประจำปีถัดไป เพื่อให้การแก้ไขปัญหานี้สินบรรลุเป้าหมายกลุ่มเกษตรกรทั้งหมดต่อไป
ด้านสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขา จ.เชียงราย และตัวแทนจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เข้ารับหนังสือจากชาวบ้านพร้อมรับปากว่าจะนำเสนอปัญหาไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ตามที่ชาวบ้านยื่นหนังสือทุกประการทำให้กลุ่มเกษตรกรแยกย้ายกันกลับ