พญ. สมรัก ชูวานิชวงศ์ นายกสมาคมสายใยครอบครัว ซึ่งมีภารกิจหลักในการ ป้องกัน และรักษาโรคจิตเวช เปิดเผยว่า “กรณีข่าวแม่ฆ่าลูก เป็นเรื่องน่ากลัวและก็สะเทือนใจมาก ส่งผลให้สังคมตระหนักและตื่นตัวมากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเร่งรณรงค์และกระตุ้นให้เครือข่ายภาคประชาชน ญาติผู้ป่วย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการนำผู้ป่วยโรคจิตเวชให้เข้าถึงการรักษา เพื่อป้องกันเหตุการณ์สะเทือนใจ โรคจิตเวช เป็นอาการป่วยอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในร่างกายมนุษย์ ดังนั้นการลงโทษว่าสังคมป่วยทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคจิตเวชเพิ่มมากขึ้น จึงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว สังคมป่วยอาจทำให้คนอ่อนแอ แต่ไม่ได้ทำให้คนป่วย คนที่ป่วยเป็นเพราะเขามีอาการป่วยอยู่แล้ว แต่ยังไม่แสดงอาการ เมื่อมีปัจจัยทำให้อ่อนแอจึงแสดงอาการป่วยออกมา หากลงโทษว่าสังคมป่วยเลยทำให้คนป่วยเป็นโรคจิตเวช เราจะหาวิธีการเข้าถึงหรือพัฒนาการรักษาผู้ป่วยโรคจิตเวชได้ยากขึ้น หรือ อาจจะไม่มีโอกาสรักษาเยียวยาได้เลย หากทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตานำพาผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษา เชื่อว่าเราจะสามารถช่วยเหลือพวกเขาไม่ให้กลายเป็นฆาตกร หรือ กลายเป็นคนบ้า”
ร.ท. จิตรกร รอดทวีผล พนักงานสอบสวน สบ.1 เปิดเผยว่า “เมื่อหลายปีก่อนเคยทำคดีแม่ฆ่าลูก แม่เป็นข้าราชการ พอคลอดลูกก็ออกมาเลี้ยงลูก ลูกร้องกวนมากๆ ก็เลยทุ่มลูกลงกับพื้นเสียชีวิต หมอความเห็นว่าเป็นโรคซึมเศร้า อันนี้ก็ต้องนำตัวไปรักษา อีกกรณี ลูกชายหลอนจากยาเสพติดใช้มีดฟันหัวแม่คิดว่าเป็นลูกมะพร้าว อันนี้เป็นกรณีของการใช้ยาเสพติด มีโอกาสที่จะได้รับความผิดตามกฎหมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานสอบสวน กรณีมีผู้แจ้งให้ไปช่วยควบคุมตัวผู้ป่วยที่กำลังอาละวาดเนื่องจากขาดยา เจ้าหน้าที่ก็จะไปที่บ้านนำตัวผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาล ซึ่งอันนี้ก็มีอยู่บ่อยๆ เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้จะนิ่งเมื่อเจอเจ้าหน้าที่ตำรวจ อันนี้ก็เป็นการทำงานอีกด้านหนึ่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ตามผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราต้องช่วยกันทุกฝ่ายครับ”
นางสาว ธนนพวรรณ-บีบี รุจิภาคย์วิสิษ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่า “เหตุการณ์ที่เพื่อนปาดคอเพื่อน ถ้ามาจากการเสพยาเสพติด สมควรเอาผิด เพราะอาการผิดปกติที่เขาเป็นเกิดจากการเสพยา ถ้ามาจากคนที่ป่วยเป็นโรคจิตเวชอยู่แล้ว คิดว่าเขาเหล่านั้น สมควรได้รับการรักษามากกว่าการเอาผิด เพราะผู้ป่วยจิตเวชจะไม่ทราบว่าตนเองกระทำอะไรลงไปบ้าง เคยได้ไปเป็นจิตอาสาในสมาคมสายใยครอบครัว ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา ได้เห็นมุมที่ต่างเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวชที่สังคมไม่เคยได้เห็น เขาเหล่านี้ไม่ได้อยากป่วยเลย แต่บางทีอาการบางอย่างเขาคุมไม่ได้จริงๆ โรคจิตเวชมีสิทธิ์เป็นได้ทุกคน อยากให้สังคม เลิกประนามหรือตีตราบุคคลที่ป่วยเป็นโรคจิตเวชว่า เขาเป็นคนบ้า เพราะจะทำให้เขาไม่กล้าเข้ามารับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องจากจิตแพทย์ จนเขาต้องกลายเป็นจำเลยของสังคม”
สมาคมสายใยครอบครัว ได้ดำเนินการโครงการต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับผู้ป่วยโรคจิตเวช เช่น โครงการประกวดหนังสั้น “ไม่บ้า อวอร์ด” , โครงการเปิดบ้านตามหา “น” , โครงการร้อยเรื่องราว ล้านเรื่องเล่า ป้องกันการฆ่าตัวตาย และ ในปี 2555 นี้เพื่อเป็นการต่อยอดการทำงานในเชิงลึกจึงได้จัดงาน “เดินสู่เสรี-Walk Free from Stigma” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ทรงเห็นคุณค่าในตัวผู้ป่วยจิตเวช ทรงสร้างโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของประเทศไทย คือ “โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา” กิจกรรม “เดินสู่เสรี-Walk Free from Stigma” ยังเป็นการตอกย้ำให้ตระหนักถึงความรุนแรงของโรค และ เห็นความสำคัญของการนำพาผู้ป่วยจิตเวชเข้าสู่การรักษาอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของการดูแลทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของสังคม ทั้งยังได้สร้างกุศลในการให้ชีวิตใหม่แก่ผู้ป่วยจิตเวช พร้อมกันกับนิตยสารเพื่อนรักษ์สุขภาพจิต ซึ่งเป็นนิตยสารที่เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนและแบ่งปัน สำหรับผู้อยู่กับโรคจิตเวช ได้ครบรอบ 12 ปี ซึ่งนับเป็นการเดินทางของสื่อเฉพาะทางซึ่งให้ความสำคัญกับโรคจิตเวชโดยตรงอีกหนึ่งสื่อสร้างสรรค์ที่มุ่งหวังสานประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยจิตเวชอย่างแท้จริง
พญ. สมรัก ชูวานิชวงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอเชิญชวนหน่วยงาน องค์กร ประชาชน ทุกท่าน ร่วมเดินเทิดพระเกียรติพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อผู้ป่วยจิตเวช และ ร่วมกันถวายบังคมพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ ในงาน “เดินสู่เสรี-Walk Free from Stigma” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 23 ตุลาคม 2555 ศกนี้”