นางสาวฤดี ปติอารยกุล ผู้จัดการกองทุนอาวุโส กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ว่ามีการคาดการณ์ว่าจะมีสภาพคล่องเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งมาตราการ QE3 ของสหรัฐฯ และการจัดตั้งกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป หรือ ESM อย่างไรก็ดี ยังคงแนะนำให้คอยติดตามว่าเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียจะไปลงทุนในตราสารใด ถึงแม้เม็ดเงินบางส่วนจะเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย แต่ในระหว่างทางตลาดอาจยังมีความผันผวนได้จากปัจจัยต่างๆ อาทิ ทิศทางของค่าเงิน แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ การเคลื่อนย้ายเงินลงทุน ซึ่งในตลาดตราสารหนี้ในช่วงอาทิตย์แรกของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอายุน้อยกว่า 1ปี มีการปรับตัวขึ้น 2 ถึง 5 basis point ในขณะที่อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวมีการปรับตัวลง 1 ถึง 10 basis point เนื่องจากภายใน 3 อาทิตย์ แรกของเดือนนี้ ยังไม่มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลหรืออุปทานใหม่ของพันธบัตรออกมา กอปรกับมีการกลับเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยมียอดซื้อสุทธิในตราสารหนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว 13,101 ล้านบาท
นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการขายและการตลาด กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ช่วงนี้ต้องมีความระมัดระวัง สำหรับนักลงทุนที่ไม่ต้องการความเสี่ยงจากการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ (Yield) แนะนำให้ลงทุนในกองทุนระยะสั้น โดยในวันที่ 11 ตุลาคม บริษัทฯ จะ Rollover กองทุนเปิดแอสเซทพลัสตราสารหนี้ทวีทรัพย์ 4 (ASP-TFIXED4) ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ ที่เสนอขายเป็นรอบระยะเวลา โดยรอบการลงทุนนี้ จะพิจารณาลงทุนในตั๋วเงินคลัง พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและตั๋วแลกเงินในประเทศ อายุประมาณ 3 เดือน โดยคาดว่าสามารถให้ผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายได้อยู่ที่ 3.20%* ต่อปี*” นางสาวจารุลักษณ์ กล่าว