รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวเปิดการประชุมโดยได้เน้นย้ำความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองภูมิภาคที่มีมาอย่างใกล้ชิดและยาวนาน โดยเฉพาะในด้านการค้าและการลงทุน จึงขอให้ประเทศสมาชิกอาเซมร่วมมือกันเพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่ภูมิภาคยุโรปกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน และในช่วงเวลานี้ ซึ่งประเทศในเอเชียกำลังมองหาโอกาสเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและยุโรปกำลังดำเนินการปรับโครงสร้างทางเศรษกิจ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
ในการนี้ ประธานการประชุมได้ออกแถลงการณ์ ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้
(1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซมได้หารือถึงการพัฒนาการด้านเศรษฐกิจ การเงิน และแนวโน้มของภูมิภาคเอเชีย-ยุโรปและเศรษฐกิจโลกในภาพรวม โดยเห็นว่า เศรษฐกิจของยุโรป ยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกได้ชะลอตัวลงและยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่หลายประการ และได้สนับสนุนความพยายามของยุโรปที่จะแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาค โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างทางการคลังที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ รวมถึงการใช้นโยบายอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สำหรับเศรษฐกิจของเอเชีย ที่ประชุมเห็นว่า มีการขยายตัวได้ดี แต่ได้ขอให้เน้นการกระตุ้นการบริโภคของภาคเอกชนและการปรับโครงสร้างเพื่อสนับสนุนความต้องการภายในประเทศและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของตลาดเงินและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งสองภูมิภาค จึงได้สนับสนุนการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียและยุโรปจากความผันผวนดังกล่าวในเชิงลึกขององค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้ง ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความโปร่งใสของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์และการลดความผัวผวนด้านราคา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน
(2) ที่ประชุมได้หารือถึงความคืบหน้าในการพัฒนากลไกแก้ไขและป้องกันวิกฤตการณ์ ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียและยุโรป ซึ่งได้แก่ มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation CMIM) และกลไกเสริมสร้างเสถียรภาพของยุโรป (European Stability Mechanism: ESM) โดยเห็นว่า ทั้งสองกลไกดังกล่าวมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในการแก้ไขและป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจ และได้ชื่มชมต่อความพยามยามของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในการเสริมสร้างเชื่อมโยงกับกลไกแก้ไขและป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้สนับสนุนมติของการประชุมสุดยอด G20 เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ที่ให้ความสำคัญกับ การเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบการเงินระหว่างประเทศและช่วยป้องกันวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคต และได้เรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาบทเรียนที่ได้รับจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองภูมิภาคด้วย
(3) ในด้านการค้าและการลงทุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซมได้แสดงจุดยืนที่จะยึดมั่นต่อกลไกตลาดที่เสรีและต่อต้านการกีดกันทางการค้าในทุกรูปแบบ และได้หารือถึงแนวทางการเพิ่ม ปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างเอเชียและยุโรป ซึ่งยังมีช่องทางที่จะขยายตัวได้อีกมาก โดยเห็นควรให้มีการปรับปรุงโครงสร้างทางการเงินเพื่อรองรับการขยายตัวด้านการค้าและการลงทุนดังกล่าว สนับสนุนให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน และให้มีการพิจารณาลดข้อจำกัดด้านการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่าย
(4) สำหรับความคืบหน้าของร่วมมือต่างๆ ภายใต้กรอบอาเซม ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงความคืบหน้าของความร่วมมือด้านศุลกากร (ASEM Customs Directors General/Commissioners Meeting) ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินการใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้า การต่อต้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม และการเชื่อมโยงกับภาคเอกชน
(5) การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในปี 2014 โดยมีประเทศอิตาลีรับเป็นเจ้าภาพ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02 273 9020