นายนันทพล กาญจนวัฒน์ กรรมการธนาคารออมสิน รักษาการแทนผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยผลประกอบการธนาคารออมสินในช่วง 9 เดือน ปี 2555 (1 มกราคม — 30 กันยายน 2555) ว่า มีกำไรก่อนหักผลกระทบมาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 19 และตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 24,729 ล้านบาท ส่วนสำคัญมาจากรายได้ดอกเบี้ยจากการให้สินเชื่อ รวมทั้งความสำเร็จในการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินให้มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและสินทรัพย์ที่มีคุณภาพ โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิถึง 36,637 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6,223 ล้านบาท ซึ่งส่วนสำคัญมาจากการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 30 กันยายน 2555 ที่มีปริมาณถึง 1,513,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 263,597 ล้านบาท
สำหรับการขยายตัวของสินเชื่อข้างต้น เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2554 จำนวน 162,006 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 12 ซึ่งมาจากการปล่อยสินเชื่อที่เป็นไปตามนโยบายเพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม ของประเทศ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพ สินเชื่อบุคคลรายย่อย สินเชื่อแก่ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อแก่กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก โดยที่ธนาคารฯ ยังดำรงสัดส่วนสินเชื่อรายย่อย ต่อสินเชื่อรายใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 94 : 6 และ ณ วันที่ 30 กันยายน 2555 ธนาคารฯ มีสินทรัพย์รวม 1,901,340 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2554 จำนวน 129,229 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 มีสัดส่วนสินเชื่อ ต่อเงินลงทุนร้อยละ 82 : 18
ขณะที่การรับฝากเงิน ภายใต้ภารกิจความเป็นสถาบันเพื่อการออมของธนาคารออมสิน ปรากฏว่า มียอดเงินฝากรวม 1,627,248 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 228,424 ล้านบาท โดยปริมาณ เงินฝากยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากการที่ธนาคารฯ ได้ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากใหม่ในปีนี้ เช่น เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 399 วัน ที่ล่าสุดได้ขยายระยะเวลารับฝากไปจนถึงสิ้นปี 2555 เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 99 วัน ดอกเบี้ย ร้อยละ 2.75 ต่อปี และเงินฝากประจำ 5 เดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.30 ต่อปี ที่เปิดรับฝากไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 เงินฝากสงเคราะห์ชีวิต 2 รูปแบบใหม่ และผลิตภัณฑ์ล่าสุด เงินฝาก Youth Savings ที่จัดแคมเปญแจก New ipad 200 รางวัล รวมถึงเงินฝากที่ผู้ฝากให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง คือ สลากออมสินพิเศษ
“ในช่วงไตรมาส 1-3 ของปี 2555 มีปริมาณความต้องการสินเชื่อของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ส่วนหนึ่งมาจากได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ขณะที่ธนาคารออมสินสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ภายใต้เงื่อนไขที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ประกอบกับมีปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นจากการ ออกผลิตภัณฑ์ที่จูงใจเพียงพอต่อการขยายเงินให้สินเชื่อ”นายนันทพล กล่าว
สำหรับเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ส่งผลให้ลูกค้าบางส่วนขาดความสามารถ ในการชำระหนี้ ธนาคารฯ จึงได้ผ่อนปรนด้วยมาตรการต่างๆ เป็นผลให้การรับรู้รายได้ของธนาคารฯ ลดลงในช่วงต้นปี 2555 และต้องบันทึกยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ตามเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม ธนาคารฯ ยังคงมุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างรัดกุมและผ่อนปรนตามความเหมาะสม พร้อมกับ เน้นประสิทธิภาพในทุกกระบวนการตามมาตรการแก้ไขหนี้ ซึ่งการแก้ไขหนี้อย่างมีประสิทธิภาพดังกล่าว ธนาคารฯ ได้ดำเนินการควบคู่กับการปล่อยสินเชื่ออย่างเหมาะสมและรัดกุม ส่งผลให้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ปริมาณหนี้ด้อยคุณภาพเริ่มลดลง ทำให้คุณภาพสินทรัพย์ยังอยู่ในระดับปกติ โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 มีปริมาณหนี้ NPLs อยู่ที่ร้อยละ 1.13 ของสินเชื่อรวม หรือประมาณ 17,000 ล้านบาท
นายนันทพล กล่าวต่อไปว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 ธนาคารฯ มุ่งให้ความสำคัญ ด้านบริการอย่างมีคุณภาพ ภายใต้เครือข่ายและช่องทางการให้บริการของธนาคารออมสินที่พร้อมจะมุ่ง นำนโยบายดังกล่าวไปสู่เป้าหมาย ผ่านสาขาให้บริการเต็มรูปแบบจำนวน 906 แห่ง เครื่องให้บริการอิเล็กทรอนิกส์และตู้เอทีเอ็มมีจำนวนกว่า 5,500 เครื่อง หน่วยให้บริการเคลื่อนที่ (ธนาคารเรือและรถตู้) จำนวน 92 หน่วย มีธนาคารโรงเรียนธนาคารออมสิน เพื่อปลูกฝังการออมตั้งแต่วัยเด็กผ่านสถานศึกษาอีกกว่า 726 แห่งทั่วประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานผ่านช่องทางทั้งหมดดังกล่าวมีศักยภาพมากยิ่งขึ้นท่ามกลาง การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งภายใต้ภารกิจของธนาคารออมสินในการมุ่งส่งเสริมการออม และสร้างวินัยทางการเงินในภาคประชาชน ตลอดจนการขยายธุรกรรมทางการเงินที่หลากหลายครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม พร้อมกับการทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก รวมถึงรองรับความต้องการเข้าถึงแหล่งทุนตามนโยบายรัฐบาล คณะกรรมการธนาคารออมสิน จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมองค์กร ใหม่ ที่จะใช้เป็นแนวทางเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะใช้ในปี 2556 — 2560
“คณะกรรมการธนาคารฯ กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ว่า “เป็นสถาบันการเงินที่มั่นคงเพื่อการออม และเป็นผู้นำในการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากและลูกค้ารายย่อย ด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และธรรมาภิบาล” ซึ่งดำเนินภายใต้พันธกิจ 1. เป็นสถาบันเพื่อการออม 2. เป็นสถาบันเพื่อการลงทุนและ การพัฒนา 3. เป็นสถาบันเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และ 4. เป็นสถาบันที่รับผิดชอบต่อสังคม พร้อมกันนี้ ได้กำหนดค่านิยมองค์กร VIPS คือ มุ่งมั่นในวิสัยทัศน์ (Vision Focus) ยึดมั่นในคุณธรรม (Integrity) เชี่ยวชาญงานบริการ (Professionalism) รับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility)” นายนันทพล กล่าวในที่สุด.