ในการเข้าชี้แจงหลักการและเหตุผลต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีประธานรัฐสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นประธาน นายสวรรค์ แสงบัลลังค์ เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ในฐานะผู้แทนการเสนอกฎหมายภาคประชาชน ได้กล่าวถึงหลักการของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า “ให้มีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เนื่องจากสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อมจึงควรได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกกระทำการทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้เพื่อแสดง ดังนั้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อให้สัตว์ได้รับการคุ้มครอง ตามธรรมชาติของสัตว์อย่างเหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
นายสวรรค์ แสงบัลลังค์ ได้ชี้แจงถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยจะต้องมี พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ... เพื่อส่งเสริมจริยธรรม การพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิต ตลอดถึงการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง และการท่องเที่ยวของประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีงามของประเทศในฐานะที่เป็นประเทศอารยธรรมในสังคมโลกต่อไป และฝากความหวังไว้กับสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเป็นผู้กำหนดเรื่องนี้
ส่วนสาระสำคัญของร่าง พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ...มีดังนี้
1. กำหนดนิยามคำว่า “สัตว์” “การทารุณกรรม” “การจัดสวัสดิภาพสัตว์” และ “องค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์” เป็นต้น
2. กำหนดองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์
3. กำหนดให้คณะบุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์หรือดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทารุณกรรมหรือการจัดสวัสดิภาพสัตว์มีสิทธิ์ขอขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์
4. กำหนดให้ผู้จัดตั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ดำเนินกิจกรรมในลักษณะไม่แสวงหากำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันมีสิทธิ์ขอขึ้นทะเบียนเป็นสถานสงเคราะห์สัตว์
5. กำหนดมาตรการห้ามมิให้กระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันควร
6. กำหนดให้เจ้าของสัตว์ต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสม และมิให้ปล่อยละทิ้งหรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร รวมทั้งเจ้าของสัตว์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ในการขนส่งสัตว์หรือการนำสัตว์ไปใช้งานหรือใช้ในการแสดง
7. กำหนดให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจค้นสถานที่และตรวจยานพาหนะเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ทารุณกรรมสัตว์หรือยึด อายัดสัตว์ หรือซากสัตว์ตามที่ได้รับแจ้งหรือเหตุอันควร
8. กำหนดให้มีบทกำหนดโทษเกี่ยวกับความผิดกรณีการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุสมควร กรณีการจัดสวัสดิภาพสัตว์ และกรณีไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามสมควรและกำหนดให้อธิบดีมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้
ติดต่อ:
สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ คุณอรุนฤดี พันขวง โทร. 02-255-5805