จากการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คปก. เห็นชอบให้มีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอโดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส,นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะ,นางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์ และคณะ เพื่อให้รัฐสภาเห็นชอบโดยเร็ว และให้แก้ไขคุณสมบัติของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่ง คปก.มีข้อสังเกตใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1. ประเด็นองค์ประกอบและคุณสมบัติของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเห็นว่า การกำหนดจำนวนองค์ประกอบ และคุณสมบัติขององค์ประกอบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามร่างพ.ร.บ. ฉบับเสนอโดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส,นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะ,นางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์ และคณะ) มีหลักการที่มีความเหมาะสม แต่การกำหนดคุณสมบัติในมาตรา 6 วรรคสี่ (ข) ว่า “กรรมการต้องมีคุณสมบัติเป็นหรือเคยเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาและดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์มาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี” คปก.เห็นว่าควรเป็นตำแหน่งระดับศาสตราจารย์ขึ้นไป เพื่อให้เป็นไปทำนองเดียวกับคุณสมบัติขององค์ประกอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรอื่น และสอดคล้องกับกรณีที่กำหนดตาม (ก) ว่าต้องเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ 10 หรือเทียบเท่า
2. ประเด็นคุณสมบัติการมีสัญชาติไทยโดยการเกิด โดยสิทธิในการดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นถือได้ว่าเป็นสิทธิพลเมืองอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความคุ้มครองและ สิทธิประโยชน์ที่รัฐต้องมอบให้พลเมืองของรัฐทุกคนตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน แต่เนื่องจากการได้มาซึ่งสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 นั้น ไม่ได้มีเพียงการได้มาโดยการเกิดเท่านั้น แต่ยังมี การได้มาซึ่งสัญชาติโดยทางอื่น ดังนั้น ในกรณีที่ไม่ได้มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ บุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่ว่าจะได้มาโดยการเกิดหรือได้มาโดยทางอื่น จึงควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน
ติดต่อ:
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔