โดย สมาคมชาวไร่ยาสูบ เบอร์เล่ย์ จ.สุโขทัย
ยาสูบนั้นนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยชนิดหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมใบยาสูบเป็นเพียงพืชที่ปลูกเพื่อใช้สำหรับผลิตบุหรี่เฉพาะในประเทศ แต่ในระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา การผลิตและการค้าใบยาสูบได้ขยายตัวกว้างมากขึ้น จนกระทั้งปัจจุบันผลผลิตใบยาสูบกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จะถูกนำส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ทำให้ใบยาสูบได้กลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจ สินค้าส่งออกที่สำคัญมากในปัจจุบัน ซึ่งทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยได้ปีละ 2,500 — 3,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบกว่า 31,000 คน และมีจำนวนแรงงานในไร่ยาสูบประมาณ 248,000 กว่าคน
จากการที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอยกเลิก พ.ร.บ. พ.ศ.2535 จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ. ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. 2535 และกฎหมายคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ และยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ขึ้น และเป็นมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา นั้นได้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ คัดค้านจากหลายภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร สหภาพแรงงานยาสูบ กลุ่มผู้ค้าปลีก ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จากร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น แต่กลับมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และยังมีข้อกฎหมายที่มีการลิดรอนสิทธิ์กับเกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
โดยสิ่งที่เกษตรกรชาวไร่ยาสูบกังวลเป็นอย่างยิ่งคือ มาตราที่ 39 เรื่องส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งได้เปิดช่องให้รัฐมนตรีมาประกาศห้ามการใช้ส่วนประกอบในภายหลังนอกเหนือจากกฎกระทรวง โดยถ้าหากมีการประกาศห้ามใช้ส่วนประกอบที่จำเป็น ก็จะมีผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบอย่างรุนแรงถึงขั้นหมดอาชีพ
นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการจำกัดสิทธิชาวไร่ ในมาตราที่ 14 ว่าด้วยการให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการอำนวยการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ” ประกอบด้วยการตั้งคณะกรรมการอำนวยการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ ที่ทำหน้าที่ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีในการออกฎหมาย ซึ่งผู้ที่ร่วมออกกฎหมายก็มีเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้แทนจาก NGO กลุ่มรณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่ แต่กลับไม่มีผู้แทนจากกลุ่มชาวไร่ยาสูบซึ่งจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสิ่งที่จะเกิดขึ้น เข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อให้ความคิดเห็นก่อนจะกำหนดออกมาเป็นระเบียบกฎหมาย ซึ่งหากการออกกฎหมายโดยขาดกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของยาสูบ และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา ก็เท่ากับว่ามันเป็นการลิดรอนสิทธิ์ ออกกฎหมายมาจากผู้ที่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจจริง ก็จะทำให้เกิดผลเสียแก่ภาคเกษตร
ในบางมาตรายังเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ที่ทำผิดกฎหมายเช่นบุหรี่เถื่อนบุหรี่ปลอม เช่นมาตรา 40 มีความตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อนำไปสู่การบังคับใช้ซองบุหรี่มาตรฐานที่จะทำให้บุหรี่ปลอมทำได้ง่ายมากขึ้น อีกทั้งไม่ได้ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงแต่อย่างได้ เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ผลิต และทำให้ส่วนแบ่งการตลาดลดลง แต่ความต้องการและผู้ที่สูบยังคงมีจำนวนเท่าเดิม ทำให้ประเทศต้องเสียดุลการค้าไป
สำหรับในส่วนของมาตราที่อาจส่งผลให้เกษตรกรต้องลดพื้นที่การปลูกยาสูบลง และรัฐบาลยังมีให้แนวคิดกับเกษตรกรในหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น นั้นถือว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเกษตรทำอาชีพนี้มานานหลายสิบปี และใช้เงินลงทุนไปแล้วจำนวนมาก หากมีการปรับเปลี่ยนให้ปลูกพืชชนิดอื่นจริงอาจเกิดผลกระทบต่อทั้งภาวะเศรษฐกิจ และตัวเกษตรกรเอง เพราะใบยาสูบนับเป็นพืชที่สร้างรายได้ดี มีราคาแน่นอนกว่าพืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิด และหากมองถึงผลกระทบก็อาจจะได้รับผลกระทบที่เป็นวงกว้าง เริ่มจากที่เกษตรกรอาจเกิดสภาวะการว่างงาน เกิดการย้ายถิ่นฐานมาทำงานในภาคอุตสาหกรรมเกิดเป็นปัญญาภาวการณ์กระจุกรวม สร้างความแอดอัด ส่งผลต่อทั้งด้านสาธารณสุข และสุขภาพจิตของประชาชนในประเทศ และที่สำคัญยังทำให้ประเทศขาดรายได้จากการส่งออกใบยาสูบ
สิ่งที่รัฐบาลกำลังจัดทำ ร่าง พ.ร.บ. ใหม่เพื่อต้องการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงนั้น อาจยังเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ตอบโจทย์ ซึ่งจะเห็นได้จากการออกกฎหมายคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ และพ.ร.บ. ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. 2535 ที่ใช้มากว่า 20 ปี นั้นก็มีความเข้มงวดมากพอแล้ว และไม่กระทบต่อเกษตรกรผู้เกี่ยวข้อง แต่ที่ผ่านมากก็ไม่อาจลดจำนวนผู้ที่สูบบุหรี่ลงได้เลย เยาวชนรุ่นใหม่ก็ยังริลองสูบบุหรี่อยู่ และถ้าหากรัฐบาลจะออก พ.ร.บ. ฉบับใหม่ขึ้นมา ถึงจะมีความเข้มงวดมากกว่าเดิม แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งเป็นเสมือนกับการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และยังส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีความเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเกษตรกร สหภาพแรงงานยาสูบ รวมไปถึงร้านค้าปลีกที่จะได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ และอาจจะสะเทือนไปถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกด้วย เพราะใบยาสูบถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจ ของประเทศที่สร้างรายได้ให้ประเทศไทยอย่างมหาศาล และที่สำคัญคนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ร้ายที่จะต้องถูกริดรอนอาชีพ แต่รัฐบาลควรจะไปกวดขันกับพวกที่ทำผิดกฎหมายลักลอบนำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศ หรือการรณรงค์ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนไม่สูบบุหรี่ รวมถึงโทษของยาเส้นที่สูบกันอย่างแพร่หลายนั้นมีอันตรายกว่าบุหรี่ก้นกรองหลายเท่า