นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 หรือ ความร่วมมืออาเซียน+3 ได้แก่ ประเทศในอาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้ง จีน เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น จะช่วยให้สภาพเศรษฐกิจของเอเชียมีความมั่นคงมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันจีนถือเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งและเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับสองของไทย ด้วยมูลค่าการค้าระหว่างไทยและจีนปีที่แล้วสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท
ธนาคารกสิกรไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเติบโตในการทำธุรกิจและการลงทุนระหว่างประเทศไทยและจีนที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารฯ เร่งพัฒนารูปแบบการทำ ธุรกรรมและการชำระเงินระหว่างประเทศให้มีความหลากหลายครบวงจรมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพของการบริการทางการค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้นำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศ จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับธนาคารจากประเทศจีนซึ่งในวันนี้มาร่วมงาน 6 แห่ง ที่เป็นสมาชิกสมาคมแฟคเตอริ่งระหว่างประเทศ (Factors Chain International หรือ FCI) ได้แก่ ธนาคารไชน่าหมิงเซิง ธนาคารผิงอัน ธนาคารจาวซาง ธนาคารเพื่อการพัฒนาผู่ตงแห่งเซี่ยงไฮ้ ธนาคารแห่งเซี่ยงไฮ้ และธนาคารเปาซาง เพื่อร่วมกันพัฒนาบริการแฟคเตอริ่งระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคารจีนที่เป็นสมาชิกสมาคมแฟคเตอริ่งระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะรับซื้อลูกหนี้ทางการค้าระหว่างกัน และยังให้บริการเรียกเก็บลูกหนี้จากลูกหนี้การค้าระหว่างกันด้วย เพื่อสร้างความคล่องตัวในการดำเนินงานของธุรกิจของผู้ซื้อหรือผู้ขายทั้งฝั่งไทยและจีน นอกจากนี้ ยังมีบริการที่ครอบคลุมด้านการให้สินเชื่อทางธุรกิจ นับเป็นการช่วยป้องกันความเสี่ยงด้านการค้าระหว่างประเทศและช่วยอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจระหว่างประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่น
นายบัณฑูรกล่าวในตอนท้ายว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่ครอบคลุมการบริการแฟคเตอริ่งระหว่างไทยจีนที่ใหญ่ที่สุด มีมูลค่าการทำแฟคเตอริ่งของความร่วมมือประมาณ 29,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในส่วนของธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้น อีกทั้งสามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้ส่งออกในการทำการค้ากับผู้ซื้อแต่ละราย รวมถึงระดับปริมาณการค้าที่เหมาะสมและช่วยสร้างความคล่องตัวในการทำธุรกิจผ่านการให้สินเชื่ออีกด้วย
รายชื่อธนาคารจีน 19 แห่งที่ร่วมกันพัฒนาบริการแฟคเตอริ่งระหว่างประเทศ
ที่ Name List ธนาคาร
1 Industrial and Commercial Bank of China ธนาคารพาณิชย์อุตสาหกรรมแห่งประเทศจีน
2 Agricultural Bank of China Limited ธนาคารการเกษตรแห่งประเทศจีน
3 Bank of China-H.O. ธนาคารแห่งประเทศจีน
4 China Construction Bank ธนาคารการก่อสร้างจีน
5 Bank of Communications ธนาคารแห่งการสื่อสาร
6 China Development Bank ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีน
7 Industrial Bank Co., Ltd. ธนาคารอันดัสเทรียล
8 Bank of Dalian Co., Ltd. ธนาคารแห่งต้าเหลียน
9 Bank of Jiangsu Co., Ltd. ธนาคารแห่งเจียงซู
10 The Export-Import Bank of China ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน
11 China Merchants Bank Co., Limited ธนาคารจาวซาง
12 China Minsheng Banking Corporation Limited ธนาคารไชน่าหมิงเซิง
13 Shanghai Pudong Development Bank ธนาคารเพื่อการพัฒนาผู่ตงแห่งเซี่ยงไฮ้
14 Bank of Shanghai Co., Ltd. ธนาคารแห่งเซี่ยงไฮ้
15 Ping An Bank Co., Ltd. ธนาคารผิงอัน
16 China Everbright Bank ธนาคารไชน่าเอเอวิร์ไบร์ท
17 Hua Xia Bank Co., Limited ธนาคารหวาเซี่ยะ
18 ChinaCITIC Bank ธนาคารซิติแห่งประเทศจีน
19 China Guangfa Bank Co., Ltd ธนาคารไชน่ากวางฟา