เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ที่ห้องบัวทิพย์ 5 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน ภาคอีสาน (ศสอ.) ร่วมกับสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี จัดเวทีเสียงของเด็ก "คิด สะท้อนสังคม" โดยมีกลุ่มเด็กเยาวชนตาสว่าง กลุ่มเยาวชนอีสาน Young กล้าดี กลุ่มเยาวชนแว่นขยาย กลุ่มสื่อใสวัยทีน กลุ่มเยาวชน NJ ผู้ประกาศปอดสะอาด รวมทั้งแกนนำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกว่า 30 คน เข้าร่วมในกิจกรรม
อาจารย์สุรสม กฤษณะจูฑะ นักวิชาการ/ที่ปรึกษา ศสอ.กล่าวว่า เครือข่ายเด็กและเยาวชนตาสว่างนี้ มีแนวคิดเพื่อให้เกิดกลุ่มเด็กและเยาวชนที่สามารถมองเห็น ตระหนักถึงปัญหา และสามารถสะท้อนปัญหาจากความคิดของเยาวชนเองออกสู่สังคมและติดตามตรวจสอบผลต่อการเปลี่ยนแปลงในประเด็นนั้นๆ กลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนที่อยู่ในและนอกระบบการศึกษาอายุ 15-25 ปี ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดมหาสารคาม โดยเริ่มต้นที่อุบลราชธานีผ่านกลไกความร่วมมือในพื้นที่ เช่น เครือข่าย กลุ่มเด็กเยาวชน ร่วมกับสื่อมวลชน จนพัฒนาเป็นรายการ"ฟังข่อยแหน่" "ซึ่งวันนี้มีการสะท้อนข้อมูลเรื่องวัยรุ่นกับเฟสบุค เรื่องวัยรุ่นทีวี และเรื่องค่านิยของวัยรุ่นในปัจจุบัน "เรื่องของเด็ก ถ้าฟังจากสื่อจะได้เเบบนั้น เเต่ถ้าเราสื่อสารจากตัวเด็ก เราจะได้มุมที่ต่าง เราต้องเอาเสียงเด็กตัวเอกเป็นการยืนยันเเละสื่อสารต่อไป"
นางสาวปัญญารัตน์ ศรีแย้ม (นีล) กลุ่มเยาวชนสื่อใสวัยทีน บอกว่า บางเรื่องที่สะท้อน ที่ผ่านมาตนคิดคนเดียว ไม่ได้สื่อสาร เมื่อมีพื้นที่แบบนี้ เราได้แชร์ความคิดของเราให้คนอื่นรู้
นายเจนณรงค์ วงษ์วิจิตร กลุ่มเยาวชนแว่นขยาย บอกว่า "การมีพื้นที่ตรงนี้ ดีขึ้นกว่าเราคุยกันคนเดียว คนอื่นดูก็มากกว่าเราดูกันเอง รู้ว่าเราคิดอะไร ต้องการแบบไหน ถ้าผู้ใหญ่รับฟังน่าจะเป็นผลดี เพราะปกติเสียงเด็กเยาวชนเขาไม่ค่อยอยากรับฟังกัน?
นางสาวเสาวนีย์ สายยาง (แอน) กลุ่มเยาวชนอีสาน Young กล้าดี บอกว่า "รายการเเบบนี้เมื่อสื่อสารออกไป คงสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนที่ชมได้บ้าง อีกอย่างเราควรนำข้อมูลไปตรวจสอบตนเองด้วย บางทีเราไม่ได้ดูตนเองว่าตามเขาอยู่ เช่น เรื่องเฟสบุค ฟังเเล้วสะกิดใจ ที่ผ่านมาทำอะไรเเล้วโพสตลอด ตอนนี้ตั้งใจเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม จะไม่โพสเเบบไร้สาระ
นางสาวปาริษา กิติจันทร์โรภาส (ลูกแก้ว) นักศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บอกว่า "รายการนี้เป็นช่องทางการสื่อสารหนึ่งของเยาวชนออกไป บางอย่างเป็นเเง่มุม ที่เราเคยรู้ พฤติกรรมบางอย่างเคยทำเเต่ลืมไปเเล้ว การชวนเยาวชนหลายกลุ่มมานั่งวิเคราะห์ทำให้เห็นมุมที่แตกต่าง โดยเฉพาะข้อสรุปในแต่ละประเด็นเยาวชนที่ดูอยู่จะเรียนรู้ สื่อสารจากเราซึ่งอยู่วัยไกล้เคียงกัน มากกว่าฟังจากผู้ใหญ่ที่ ห้าม บอก เตือน หรือพูดเป็นวิชาการ ?
นายตุลาการ เชยจันทา (คำหล้า) บอกว่า "เป็นครั้งเเรกที่ได้ทำรู้สึกตื่นเต้น เป็นการขยายเสียงเราออกไปแม้เป็นการคุยกันในกลุ่มเล็ก ๆ เเต่เนื้อหามีเยอะ ได้เห็นหลายๆเเง่มุม"
บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และบันทึกรายการเป็นไปด้วยความสนุกสนาน ส่วนใหญ่เยาวชนมีความตื่นเต้นเนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ได้มีส่วนร่วมในการผลิตรายการ และนำเสนอเรื่องราวที่ตนเองสนใจในมุมที่ลึกขึ้น โดยมีอาจารย์จากสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้กำกับและดูแลด้านแอคติ้งและขอบเขตประเด็น
ข้อสรุปของการทำงาน เยาวชนอยากให้มีการดำเนินงานต่อ ช่วงท้ายจึงมีการวางแผนการทำงานโดยตั้งเป้าหมายทำรายการรูปแบบนี้ให้เกิดความต่อเนื่อง และพัฒนาให้เกิดความน่าสนใจเช่น สกู๊ปประกอบ มีข้อมูล งานวิจัยรองรับในบางเรื่อง มีการเปลี่ยนบรรยากาศ ใช้พื้นที่ ๆ มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นนั้น ๆ แผนที่เยาวชนระดมความคิดมีการกำหนดทีมชุดแรก และสร้างกลุ่มทางสื่อออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยน พูดคุย หาประเด็น เก็บข้อมูลพื้นฐาน ก่อนนำมาหารือกำหนดประเด็นคิดสะท้อนสังคมต่อไป