สธ. ชี้!!บทเรียนจากน้ำท่วมปี 54 ช่วยให้ชุมชนสามารถรับมือปัญหาสุขภาพต่างๆได้อย่างเข้มแข็ง คร. แนะใช้ “มาตรการ 555” ป้องกันโรคในช่วงอากาศเปลี่ยนปลายฝน...ต้นหนาว

จันทร์ ๒๙ ตุลาคม ๒๐๑๒ ๑๖:๐๗
นายวิทยา บุรณศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน มหกรรมรวมพลังใจสัญจรครั้งที่ 2 “ร่วมใจป้องกันโรคในช่วงอากาศเปลี่ยน ปลายฝนต้นหนาว” ซึ่งสืบเนื่องมาจากงานมหกรรมรวมพลังใจสัญจรครั้งที่ 1 “ถอดรหัสปัญหาสุขภาพ บทเรียนน้ำท่วม 54 รับมือน้ำท่วม ปี 55”แก้ปัญหาโดยชุมชน ที่จัดขึ้น ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบางบัวทอง จ.นนทบุรีโดยการดำเนินงานร่วมกันของกระทรวงสาธารณสุขและจังหวัดนนทบุรีว่า การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคถือเป็นกลยุทธ์สำคัญของงานพัฒนาสุขภาพชุมชน ที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในการดูแลกันและกันเพื่อการมีสุขภาวะที่ดี ปลอดจากโรคและภัยสุขภาพของทุกคนในชุมชน ดังเช่นความสำเร็จในการจัดการปัญหาสุขภาพชุมชนโดยชุมชนมีส่วนร่วมจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 54 ที่ผ่านมา ถือเป็นบทเรียนรู้สำคัญที่แสดงถึงศักยภาพและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันโรคภัยสุขภาพ ช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเกิดปัญหาโรคระบาดในช่วงน้ำท่วม

ถึงแม้วิกฤตน้ำท่วมจะผ่านไปแล้ว แต่การเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาโรคภัยสุขภาพยังคงต้องมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงระหว่างอากาศเปลี่ยนแปลงปลายฝนต้นหนาว ผลกระทบทางด้านสุขภาพจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงในประเทศไทย แม้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพทันทีทันใดหรือทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากก็ตาม แต่โรคระบบทางเดินหายใจยังคงเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะจะมีรายงานการเกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจจำนวนมาก โดยเฉพาะ 4 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวมซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับระบบทางเดินหายใจโดยตรง และ โรคหัด โรคสุกใสที่มักมีการระบาดในเด็กเล็กอยู่เป็นประจำ

นายวิทยากล่าวต่อว่า เพื่อป้องกันควบคุมโรคติดต่อสำคัญไม่ให้ระบาดในวงกว้างในช่วงระหว่างอากาศเปลี่ยนแปลงปลายฝนต้นหนาว จึงมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมควบคุมโรค เป็นแกนกลางบูรณาการ การดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาชน ทำหน้าที่ในการแนะนำให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ และเมื่อป่วยแล้ว อาการมักรุนแรงกว่าประชาชนทั่วๆไป ได้แก่ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ โรคไต โรคโลหิตจาง รวมทั้งให้มีการจัดกิจกรรมเพื่อให้ประชาชนและชุมชนตระหนัก รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ดูแลกันและกัน ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาทำได้อย่างยั่งยืน สามารถลดปัญหาโรคและภัยสุขภาพได้

ด้านดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าจากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2554 ในภาพรวมช่วงฤดูหนาวปี 2554-2555 มีรายงานผู้ป่วย 4 โรคสำคัญ 50,535 ราย แยกเป็นผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 5,091 ราย ปอดบวม 33,440 ราย หัด 442 ราย สุกใส 11,562 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันปี 2553-2554 พบว่ามีผู้ป่วย 52,629 ราย แยกผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 6,514 ราย ปอดบวม 30,060 ราย หัด 216 ราย สุกใส 15,839 ราย หากเทียบสัดส่วนกันดูแล้วจะเห็นว่าในปีนี้มีผู้ป่วยน้อยกว่าปีที่แล้ว 2,094 ราย คิดเป็นร้อยละ 4 ข้อมูลดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในงานด้านสาธารณสุขและงานป้องกันควบคุมโรคของไทย

อย่างไรก็ตามประชาชนบางท่านหากร่างกายปรับตัวไม่ทันโดยเฉพาะในเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ จะมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าช่วงวัยอื่น เพื่อเตรียมพร้อมเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคที่มักพบบ่อยในช่วงสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงปลายฝนต้นหนาว เช่น โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหอบหืด โรคผิวหนัง โรคหัด และสุกใส ที่มีการระบาดในเด็กเล็กอยู่เป็นประจำ

อธิบดีกรมควบคุมโรคได้กล่าวแนะนำประชาชนให้ใช้ “มาตรการ 555” เพื่อป้องกันตนเองจากโรคและภัยสุขภาพต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในช่วงอากาศเปลี่ยนปลายฝนต้นหนาว ได้แก่ “5 เตรียม 5 ระวัง และ 5 สะอาด” โดย 5 สิ่งที่ควรเตรียม ได้แก่ เตรียมเสื้อผ้าและผ้าห่มกันหนาว เตรียมยารักษาโรคเรื้อรังที่จำเป็น เตรียมของใช้ที่จำเป็นสำหรับตนเองและครอบครัว เตรียมฟังข้อมูลข่าวสาร เรื่องการประกาศภัยหนาว และเตรียมตัว โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยง ควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลทุกปี

5 สิ่งที่ควรระวัง ได้แก่ ระวังการแพร่กระจายโรคด้วยการสวมหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ระวังไม่ให้ร่างกายขาดความอบอุ่นและความชุ่มชื้น ระวังไม่ดื่มสุราเพื่อแก้หนาว เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะกดประสาท ทำให้มีอาการง่วงซึมเร็ว และอาจหมดสติโดยไม่รู้ตัว หากมีโรคประจำตัวจะทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ระวังไม่นอนในที่โล่งแจ้งลมโกรก เพราะอากาศที่หนาวเย็นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว การไหลเวียนของโลหิตช้าลง ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน หัวใจต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจส่งผลให้เกิดอาการช็อคจนเสียชีวิตได้ และระวังไม่ผิงไฟในที่อับอากาศ ไม่นำเด็กเล็กเข้าใกล้ควันไฟหรือห่มผ้าคลุมศีรษะเด็กอ่อนจนหมด

ส่วน 5 สิ่งที่ควรสะอาด ได้แก่ ทำความสะอาดเสื้อผ้าและผ้าห่มกันหนาว ทำความสะอาดที่อยู่อาศัย ล้างมือให้สะอาด มีสุขอนามัยที่ดีและสะอาด และควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวกเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ

“หากประชาชนเจ็บป่วยหรือไม่สบาย ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที และถ้ามีข้อสงสัยถึงอาการของโรคและวิธีปฏิบัติ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333”อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

ส่วนนายวิเชียร เจริญนนทสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางบัวทอง กล่าวถึงประสบการณ์ในการดูแลปัญหาสุขภาพและโรคภัยของชาวชุมชนบางบัวทองในช่วงน้ำท่วมปี54 ที่ผ่านมาว่า ถือเป็นบทพิสูจน์ความเข้มแข็งของชาวชุมชนบางบัวทอง ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาโรคภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลาไม่เฉพาะแค่ในช่วงเกิดภัยพิบัติเท่านั้น ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 54 ในเขตพื้นที่อบต.บางบัวทอง มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและสถานีอนามัยทั้ง 3 แห่ง จำนวน 1,175 ราย โรคที่พบส่วนใหญ่ได้แก่ ไข้หวัด น้ำกัดเท้า ความดันโลหิตสูง ฯลฯ ซึ่งอบต.บางบัวทองได้ให้การช่วยเหลือส่งต่อผู้ป่วยรวมถึงผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุต่างๆ เช่น ตกรถ ตกเรือ ถูกสุนัขกัด งูกัด ไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงในพื้นที่ รวมทั้งแจกยาและเวชภัณฑ์สำหรับการพยาบาลเบื้องต้น เช่น ยาแก้น้ำกัดเท้า ยาสามัญประจำบ้าน ให้กับประชาชน

“นอกจากนี้ภายหลังน้ำลดยังได้มีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค ขยะสะสมและขยะตกค้างหลังน้ำลดในบริเวณหมู่บ้าน ชุมชน เพื่อป้องกันการเกิดโรคติดต่อต่างๆ หรือในช่วงเกิดการระบาดโรคมือ เท้า ปาก ทางอบต.บางบัวทองได้มีการป้องกันโดยให้โรงเรียนปิดการเรียนการสอนทันทีเมื่อพบมีเด็กป่วย รวมถึงในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ฤดูหนาวนี้ ทาง อบต.บางบัวทองก็ได้มีการเตรียมพร้อมในเรื่องของการดูแลสุขภาพของประชาชนเอาไว้บางส่วนแล้วเช่น จะจัดให้มีการตรวจสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ การให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพตามหลักการป้องกันโรคที่ถูกต้อง ภารกิจเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้คนในชุมชนมีสุขภาพดี การที่กระทรวงสาธารณสุขได้นำหน่วยงานในสังกัดมาจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อให้ความรู้เรื่องการป้องกัน ดูแลสุขภาพช่วงอากาศเปลี่ยน ปลายฝน...ต้นหนาว แก่ประชาชนในพื้นที่ในวันนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยเติมเต็มให้การดำเนินงานด้านการดูและสุขภาพประชาชนของ อบต.บางบัวทองมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น” นายกอบต.บางบัวทอง/.กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version