นายสมยศ ภิราญคำ รักษาการรองเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.)เปิดเผยว่า กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์กรณี 14 ตุลาคม 2516 ส่งผลให้เกษตรกรจากภาคการเกษตรและผู้ใช้แรงงานจากภาคอุตสาหกรรม พากันตื่นตัวในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนกระบวนการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวของตัวเองโดยเฉพาะเรื่องของปัญหาหนี้สิน ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่เกษตรกรจำนวนหนึ่งราว 3,665 ราย เพิ่งได้รับการช่วยเหลือเสร็จสิ้นจากรัฐบาล ด้วยการงดคิดดอกเบี้ยปรับเป็นระยะเวลาหนึ่งปีในปี 2537-2538 จากการตื่นตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมจึงเป็นจุดกำเนิดในการก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ จากอดีตจนถึงปัจจุบันการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูฯ เข้าสู่ปีที่ 13 ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมแล้ว
กฟก. ได้พิจารณาอนุมัติโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ณ วันที่ 30 กันยายน 2555 จำนวน 862 โครงการ สูงกว่าเป้าหมาย 17 โครงการ ใช้งบประมาณ 252,276,053 บาท แยกเป็นโครงการประเภทกู้ยืม 241,432,859.00 บาท และโครงการประเภทเงินอุดหนุน 10,843,194.00 บาท ผู้เข้าร่วมโครงการ 42,451 คน
โครงการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรตามที่รัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 อนุมัติให้ กฟก. และสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกรที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 510,000 ราย โดยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรรับผิดชอบในการฝึกอบรมเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต ซึ่งสรุปผลการดำเนินงาน ดังนี้
ผลการปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ตามหนังสือต่อท้ายสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ (แบบ ปคน.3) กลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นการดำเนินระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ส่วนกองทุนเป็นผู้ดำเนินการในการจัดทำข้อมูลพื้นฐานรายบุคคล ตามแบบ ปคน.2 ซึ่งเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. แจ้งจำนวนเกษตรกรปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จำนวน 8,998 ราย การฝึกอบรมเกษตรกรและผู้นำ จำนวน 266 หน่วยใน 4 ภูมิภาคการสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร เกษตรกรที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้และฝึกอบรมแล้ว ณ วันที่ 30 กันยายน 2555 จำนวน 4,919 ราย งบประมาณ 36,400,600,000.00 บาท
การจัดการสัมมนาสรุปผลการดำเนินงานในครั้งนี้ได้มีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการทำงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การสร้างกระบวนการเข้าใจการทำงานของบุคลากรในหน่วยงาน การนำปัญหาและอุปสรรคมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ร่วมกัน ในส่วนแผนการดำเนินงานในปี 2556 จะมีการประชุมหารือข้อสรุปในครั้งต่อไป โดยมุ่งเน้นประโยชน์แก่พี่น้องชาวเกษตรกรไทย และการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในฐานะที่ กฟก. เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นของเกษตรกร นายสมยศ เผยปิดท้าย.