ผู้อำนวยการ SIPA เผย 3 เดือนผลงานคืบหน้า เตรียมเดินหน้าเต็มที่โครงการปี 2556

จันทร์ ๐๕ พฤศจิกายน ๒๐๑๒ ๑๐:๐๙
นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติหรือ SIPA แถลงการทำงาน 3 เดือนแรกผลงานคืบหน้า นำพาองค์กรส่งมอบเคพีไอ 4.34 ให้ ก.พ.ร. พร้อมจัดทัพบุคลากรและแผนงานปี 2556 ลงตัวพร้อมเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมเต็มที่

นายไตรรัตน์ เปิดเผยว่า จากการเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมวอฟต์แวร์แห่งชาติ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา ขณะนี้ได้ครบกำหนด 3 เดือนแรกของการทำหน้าที่แล้ว ซึ่งเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งได้ระบุแผนการดำเนินงานในช่วง 3 เดือนแรกของการทำงานว่าจะเป็นการเร่งรัดงานตามวัตถุประสงค์เดิมของปีงบประมาณ 2555 ให้ลุล่วงตามตัวชี้วัด ซึ่งถือเป็นงานหลักในช่วงระยะ 3 เดือนแรก โดยในช่วงดังกล่าวนี้สิ่งที่จะดำเนินการควบคู่ไปคือปรับการบริหารงานภายในทั้งหมดเพื่อให้เข้ากับยุทธศาสตร์ของ SIPA และเสริมการสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้พร้อมรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้มากขึ้นตามแผนงานระยะยาวที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นที่น่าพอใจว่าการดำเนินการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้สำเร็จลุล่วง โดยขณะนี้ SIPA ได้รับผลการประเมินการปฏิบัติงานในปี 2555 จาก ก.พ.ร. อย่างไม่เป็นทางการในคะแนนที่ 4.34 แล้ว นอกจากนี้การดำเนินการในส่วนของการปรับปรุงการบริหารงานภายในก็สามารถดำเนินการได้เรียบร้อยเกือบครบทุกส่วน และที่สำคัญสามารถดำเนินการปรับการจ้างงานเจ้าหน้าที่ในองค์กรเป็นระบบสัญญาจ้างได้ลุล่วงหลังจากเรื่องนี้เป็นที่ค้างคามาเป็นเวลานาน และเป็นภารกิจหลักเรื่องแรกๆที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหารให้ดำเนินการให้ลุล่วง ซึ่งประเด็นนี้ตนเองได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ของ SIPA ทุกคน

สำหรับภารกิจในลำดับต่อจากนี้ไป จะต้องเข้าสู่การขับเคลื่อนงานของปีงบประมาณ 2556 ให้เดินหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะขณะนี้ในภาครัฐถือว่าเริ่มต้นการทำงานในปีงบประมาณใหม่แล้ว และขณะนี้โครงการหลักของ SIPA ก็ได้รับการอนุมัติแผนงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลายโครงการขณะนี้ได้เริ่มเดินหน้าแผนกิจกรรมในรายละเอียดแล้ว ส่วนบางโครงการกำลังอยู่ระหว่างปรับรายละเอียดเพิ่มเติม แต่มั่นใจว่าทั้งหมดจะสามารถดำเนินการได้ก่อนสิ้นปี 2555 นี้

จากเดิมได้กำหนดไว้ว่าในช่วง6 เดือนจะเน้นไปที่เรื่องของการสร้างตลาดภายในประเทศ พร้อมทั้งเร่งดำเนินมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเงินทุน, องค์ความรู้, การวิจัย, การตลาด โดย SIPA จะเน้นการทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง, หน่วยงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง, หน่วยงานในสังกัดกระทรวงไอซีที ซึ่งขณะนี้งานทั้งหมดมีความคืบหน้าไปมากในหลายส่วน และได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆของกระทรวงไอซีที ตามความเหมาะสมในแต่ละเรื่องที่จะต้องทำ รวมไปถึงการเร่งสร้างมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ตามนโยบายของกระทรวงไอซีที โดยในด้านเงินทุนนั้น ธุรกิจซอฟต์แวร์จะแตกต่างจากภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีการลงทุนเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ จึงได้มีการสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานที่สนับสนุนด้านการลงทุน เช่นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสถาบันการเงินต่างๆ เกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจซอฟต์แวร์ โดยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการได้รับสินเชื่อ ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมกว่า 900 โครงการ และได้รับการอนุมัติเกือบทั้งหมด รวมเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ขณะเดียวกัน ก็ได้มีความร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Bank ในการปล่อยเงินกู้เพื่อสร้างประสิทธิภาพให้กับผู้ใช้ซอฟต์แวร์ด้วย

ขณะเดียวกันยังได้มีการหารือกับตลาดหลักทรัพย์เพื่อผลักดันให้ธุรกิจซอฟต์แวร์เข้าไปลงทุนในตลาดหลัก ทรัพย์ทั้ง SET และ MAI มากขึ้น ซึ่งการที่จะเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ให้ประสบความสำเร็จนั้น ผู้ประกอบการด้านซอฟต์แวร์จะต้องสามารถแสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องของรายได้อย่างเป็นรูปธรรม มีสัญญาซื้อขายระยะยาว มีบริการหลังการขายที่ดี รวมถึงมีการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งด้านบุคคล และเครื่องมือเครื่องใช้ในสำนัก งานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทที่ต้องการเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จำเป็นปรับตัวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปด้วย โดยในปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์หลายรายที่ประสบความสำเร็จ

นายไตรรัตน์ กล่าวว่า การสร้างมูลค่าให้แก่ทรัพย์สินทางปัญญา ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องเดินหน้าต่อ เพราะผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไม่นิยมจดทะเบียนสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้นการส่งเสริมให้มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรทางปัญญา จึงไม่ได้หวังผลเพียงป้องกันการลอกเลียนแบบเท่านั้น แต่เพื่อการต่อยอดทางธุรกิจด้วย โดยเมื่อจดทะเบียนสิทธิบัตร หรือจดลิขสิทธิ์แล้ว จะทำให้ทรัพย์สินทางปัญญานั้นๆสามารถนำไปประเมินมูลค่าได้ ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปเจรจากับแหล่งเงินทุนต่างๆได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ การสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านไอที หรือ IT Professional ก็เป็นอีกเรื่องที่พยามผลักดัน เพื่อรองรับ AEC 2558 ด้วย โดยSIPA จะสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ภายใต้ SIPA Academy ซึ่งจะเน้นสร้างบุคลากรที่จะเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โดยตรง โดยจะสอนความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรม กระบวนการดำเนินธุรกิจ หรือการบริการด้านไอที เป็นต้น ซึ่งผู้ที่เรียนจบหลักสูตรของ SIPA จะพร้อมเข้าทำงานในอุตสาหกรรมนี้ได้

อย่างไรก็ดี ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC นอกจากจะส่งผลให้เกิดเสรีทางการค้า บริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนแล้ว ยังรวมถึงแรงงานฝีมือ โดยด้านแรงงานฝีมือนี้ ได้ครอบคลุมสาขาวิศวกรรมด้วย ซึ่งบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์ของไทย แม้จะมีฝีมือดีแต่ยังเป็นรองด้านภาษาเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆในอาเซียน อย่างไรก็ตามคนไทยสามารถปรับตัวได้ดี จึงมีโอกาสที่คนไทยจะได้ทำงานร่วมกับบริษัทซอฟต์แวร์ชั้นนำมากขึ้น รวมถึงเป็นโอกาสให้แรงงานไทยออกสู่ตลาดโลกด้วย

“การเปิดเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนี้ หากมองในมุมของการลงทุน ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่เหมาะสมต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีบุคลากรที่มีคุณภาพ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการทำงานอย่างครบครัน ทำให้เรามีโอกาสเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตซอฟต์แวร์ของอาเซียนได้โดยเราจะต้องเริ่มจากการสร้าง Network ของกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในอาเซียน แล้วแบ่งแยกกันทำงานโดยดูจากความถนัดของแต่ละประเทศ ประเทศใดถนัดเรื่องไหนก็ให้ทำในเรื่องนั้นๆเพื่อจะได้ไม่เกิดความซ้ำซ้อน และแย่งตลาดกันเอง ซึ่งจะทำให้ซอฟต์แวร์ของอาเซียนเราสามารถแข่งกับซอฟต์แวร์อื่นๆในตลาดโลกได้” นายไตรรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ SIPA ยังมีโครงการสร้างบุคลากรทางด้านไอทีเฉพาะด้าน โดยภายในปี 2020 จะต้องสามารถสร้างผู้เชี่ยวชาญไอทีเฉพาะด้าน Healthcare ให้ได้ 40,000 คน ซึ่งจะสามารถรองรับตลาด Healthcare ได้ทั่วภูมิภาคอาเซียนด้วย โดยในขณะนี้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร(ICT) ของไทยได้รับมอบหมายจากอาเซียนให้จัดทำมาตรฐานวิชาชีพด้าน ICT ทำให้ประเทศไทยเรามีโอกาสที่จะประกาศตัวได้ว่าเป็นศูนย์พัฒนาวิชาชีพด้าน ICT ของอาเซียน ซึ่งโครงการนี้ SIPA ได้รับมอบหมายจากกระทรวงICT มาแล้ว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ