นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทิศทางธุรกิจของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน-ภัทร จะมุ่งเน้นในธุรกิจที่ทั้งสองแห่งมีความเชี่ยวชาญ โดยใช้จุดแข็งที่มี วางแผนต่อยอดในการทำธุรกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพร่วมกันอย่างสูงสุด ตลอดจนพิจารณาถึงข้อเสียเปรียบในการแข่งขัน อาทิ ขนาดสินทรัพย์ เครือข่ายสาขา ต้นทุนทางการเงิน จึงได้กำหนดกรอบเป้าหมายการดำเนินธุรกิจ โดยวางกลยุทธ์ให้สามารถแข่งขันได้และเป็นผู้นำในตลาด แบ่งเป็น 3 ธุรกิจหลัก ประกอบไปด้วย 1. ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (Commercial Banking) 2. ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนให้แก่ลูกค้าบุคคลรายใหญ่ (Private Client) และ 3. ธุรกิจตลาดทุน (Investment Banking) นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจการเงินฯ จะมุ่งเน้นนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร และเพิ่มประเภทธุรกิจ รวมทั้งสินค้าและบริการที่สามารถแข็งขันได้ ซึ่งเชื่อว่าโมเดลดังกล่าวจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร”
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (Commercial Banking) ซึ่งเป็นธุรกิจหลักในการให้สินเชื่อของธนาคาร ยังคงมุ่งเน้นไปที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ พร้อมกับความเชี่ยวชาญในด้านการติดตาม ตลอดจนขยายสินเชื่อในธุรกิจเอสเอ็มอีในกลุ่มที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญในพอร์ตสินเชื่อธุรกิจ 5 ประเภท ทั้งสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อพาร์ทเม้นท์ ฟลอร์แพลน ขนส่ง และธุรกิจสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งธนาคารมีความโดดเด่นในการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับลูกค้า ส่วนการระดมเงินฝาก จะทำการขยายฐานลูกค้าในแต่ละสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นไปที่การบริการด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย
ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนให้แก่ลูกค้าบุคคลรายใหญ่ (Private Client) ถือเป็นธุรกิจที่ต่อยอดพัฒนาโดยอาศัยความเชี่ยวชาญของทั้งสองแห่ง กล่าวคือเป็นธุรกิจที่ภัทรมีความเชี่ยวชาญ และธนาคารเองมีกลุ่มลูกค้าเงินฝากรายใหญ่อยู่มาก โดยใช้ความเชี่ยวชาญในการเป็นที่ปรึกษาด้าน การลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ผสานกับฐานลูกค้าและช่องทางการให้บริการของ ธนาคาร โดยแบ่งลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ High Net Worth (เงินลงทุนมากกว่า 30 ล้านบาท) Mass Affluent (เงินลงทุนตั้งแต่ 3-30 ล้านบาท) และสุดท้ายคือรายย่อยทั่วไป ซึ่งธุรกิจนี้ จะสามารถเพิ่มฐานรายได้ค่าธรรมเนียมได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากทั้งเกียรตินาคินและภัทร มีลูกค้าในกลุ่ม High Net Worth และ Mass Affluent อยู่แล้ว ซึ่งในส่วนของลูกค้าภัทรจะมาจากด้านตลาดทุนที่มีความเข้าใจในความเสี่ยงของการลงทุนค่อนข้างดี แต่ในส่วนของลูกค้าที่เป็นฐานลูกค้าเกียรตินาคิน จะเน้นการฝากเงินเป็นหลัก จึงเป็นโอกาสที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้ทั้งสองกลุ่ม ให้ได้รับผลตอบแทนในการออมและการลงทุนที่สูงขึ้น ด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น เช่น Structured Note หรือ ตลาดพันธบัตร เป็นต้น
ธุรกิจตลาดทุน (Investment Bank) ซึ่งดำเนินงานภายใต้ บล.ภัทร ที่เป็นผู้นำในธุรกิจตลาดทุน โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านวาณิชธนกิจเป็นอันดับ 1 ด้วย กลยุทธ์เชิงรุกเพื่อรักษาความเป็นผู้นำ ในธุรกิจดังกล่าว ผสานกับความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจการลงทุนที่หลากหลาย อาทิ Arbitrage Trading Strategies และ Systematic Trading Strategy ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับภัทรอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภายใต้ธุรกิจตลาดทุน ประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ บล.ภัทร ที่มุ่งเน้นลูกค้าสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจลงทุน บล.เกียรตินาคิน ที่ให้บริการกับลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก และ บลจ.เกียรตินาคิน ซึ่งภายหลังจากการร่วมกิจการกับเกียรตินาคิน ส่งผลให้ธุรกิจตลาดทุนมีฐานเงินทุนที่เพิ่มขึ้น สามารถบริหารเงินลงทุนในด้านต่างๆ ได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ธุรกิจตลาดทุนนี้จะมีการเปิดสายงานใหม่คือการออกตราสารหนี้ในตลาดทุน (Debt Capital Market) อีกด้วย
“การให้ข้อมูลในครั้งนี้ จะเน้นให้เห็นถึงโครงสร้างหลักทางธุรกิจ และกรอบการทำธุรกิจในภาพรวม ซึ่งธุรกิจหลักทั้ง 3 กลุ่มนี้ จะยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายว่าจะเริ่มเห็นผลลัพธ์ภายในระยะเวลากี่ปี เพราะต้องการให้มีความยืดหยุ่นในการพัฒนาธุรกิจที่ดีที่สุด เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้เกิดความมั่นคงทางธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยทีมผู้บริหารทั้งด้านตลาดเงิน และตลาดทุน โดยนายธวัชไชย สุทธิกิจพิศาล (ประธานธุรกิจธนาคารพาณิชย์และกรรมการผู้จัดการใหญ่) และนายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ (ประธานธุรกิจตลาดทุนและกรรมการผู้จัดการใหญ่) จะมีการแถลงเป้าหมายการเติบโตในส่วนของธุรกิจต่างๆ ให้ทราบอีกครั้ง” นายบรรยง กล่าวในตอนท้าย
ผลการดำเนินงาน สิ้นสุด 30 กันยายน 2555 สินเชื่อของธนาคารมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีสินเชื่อรวมอยู่ที่ 160,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.1% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังควบคุมให้อยู่ในระดับต่ำที่ 3.6% ในส่วนของหนี้สินรวม (เงินฝาก หุ้นกู้ ตั๋วบีอี และหนี้สินอื่นๆ) มีจำนวน 218,417 ล้านบาท ด้านกำไรสุทธิใน 9 เดือนแรกอยู่ที่ 2,323 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.9% สินทรัพย์รวมอยู่ที่ 252,097 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.7% จากสิ้นปี 2554 ทางด้าน บริษัททุนภัทร จำกัด (มหาชน) มีกำไรเบ็ดเสร็จใน 9 เดือนแรกของปี 2555 ทั้งสิ้น 698 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.6% จากงวด 9 เดือนของปีที่แล้ว แต่เนื่องจากบริษัททุนภัทรได้ควบรวมกับธนาคารเกียรตินาคิน เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 จึงมีส่วนของกำไรเบ็ดเสร็จของบริษัททุนภัทรรวมคำนวณอยู่ในกำไรเบ็ดเสร็จของธนาคารจำนวน 55 ล้านบาท
นายบรรยง พงษ์พานิช นำทีมผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน-ภัทร แถลงทิศทางธุรกิจ เผย ใช้จุดแข็งของทั้งสองแห่ง ต่อยอด 3 ธุรกิจหลักอย่างครบวงจร ได้แก่ “ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนให้แก่ลูกค้าบุคคลรายใหญ่ และธุรกิจตลาดทุน” ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี สินเชื่อรวมเติบโตกว่า 18% และกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,323 ล้านบาท