ด้าน ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีการดำเนินงานเพื่อพัฒนายกระดับนิคมอุตสาหกรรมนำร่องเข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมนำร่อง 3 นิคม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ นิคมอุตสาหกรรมบางปู และนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) จนมาถึงปี 2555 มีนิคมอุตสาหกรรมนำร่องเพิ่มขึ้นมาอีก 3 นิคม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร นิคมอุตสาหกรรมบางชัน และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ และมีความยินดีที่ภาคอุตสาหกรรมมีความตื่นตัวและตั้งใจจริงในการพัฒนาตนเองสู่การเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนรอบข้างให้ดีขึ้น อีกทั้งช่วยลดปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชน จึงมีความยินดีอย่างยิ่งและจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่กับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับพื้นที่ของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย โดยยึดตามกรอบข้อกำหนดคุณลักษณะมาตรฐาน และเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็น “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พิจารณาใน 5 มิติ ได้แก่ มิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติบริหารจัดการ
และ ดร. ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวย้ำว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการพัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย ตามภารกิจการดำเนินธุรกิจด้วยความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม โดยมุ่งเน้นการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Friendly) ซึ่งมีเป้าหมายในการสนับสนุนวิถีในการบริโภคอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ลดการปลดปล่อยของเสีย และมีใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยมาตรฐานเดียวกันที่ทัดเทียมกับมาตรฐานโลก ของทั้งกลุ่มบริษัท ปตท. ตามแผนปฏิบัติการ Green Roadmap
การลงนามบันทึกความร่วมมือ ในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับแหล่งการผลิตที่เพิ่มขึ้นตาม Green Roadmap ซึ่งจะไม่เป็นเพียงแค่พื้นที่อุตสาหกรรม แต่จะพัฒนาให้เป็นสวนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (PTT ECO Industrial Park หรือ PTT ECO-IP) ครบถ้วนตามข้อกำหนดคุณลักษณะมาตรฐานการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 5 มิติ 22 ด้าน สร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ชุมชน และสังคม ให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างสอดคล้อง เกื้อกูล และยั่งยืนต่อไป