นายวิรัตน์ สมัครพงศ์ ประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่าคณะกรรมการบริหารได้จัดสรรงบประมาณให้เเก่พี่น้องเกษตรกรอย่างทั่วถึง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกร ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกร พัฒนาความรู้ในด้านเกษตรกรรมหรือกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรเกษตรกร พัฒนาศักยภาพในการพึ่งพาตนเองและเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างเกษตรกรด้วยกัน นอกจากนี้ยังติดตามประเมินผลการดำเนินงานในกิจกรรมที่กล่าวข้างต้น ควบคุมดูแลสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ และในฐานะที่เป็นประธานกรรมการบริหาร คิดว่าการประสานความร่วมือกับทุกภาคส่วนเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะในองค์คณะกรรมการบริหารมีความหลากหลาย หากประสานให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วภารกิจต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นจะบรรลุผลโดยง่าย
สำหรับภาระงานของคณะกรรมการบริหารฯ นอกจากจะดำเนินงานตามแนวนโยบายคณะกรรมการกองทุนฯ แล้ว ยังต้องสะสางงานเดิมที่คั่งค้างให้แล้วเสร็จ อีกทั้งแผนการดำเนินงานใหม่ที่จะก้าวไปข้างหน้าเพื่อพี่น้องเกษตรกรให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูฯ และการบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูฯ บริหารงานและขับเคลื่อนงานในรูปแบบองค์คณะ และมอบหมายภาระงานให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ และสำนักงานสาขาประสานศักยภาพในพื้นที่ต่าง ๆ ให้บรรลุผลโดยจุดมุ่งหมายหลักคือต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรรายย่อยมีภูมิคุ้มกัน สามารถปรับตัวภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ทุกรูปแบบ และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวทางปฏิบัติ ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ก็ขานรับนโยบายไปแล้ว อย่างเช่น สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ สาขาจังหวัดสมุทรสงคราม ได้จัดกิจกรรมมอบเช็คเงินสดให้กับองค์กรเกษตรกรและเกษตรกรสมาชิก 5 องค์กร รวม 30 ราย
นางสาวคัคนางค์ สุวรรณทัต หัวหน้าสำนักงานสาขาจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวเพิ่มเติมว่า กฟก. ได้มอบเช็คเงินสดให้กับองค์กรเกษตรกร แบ่งได้เป็นองค์กรที่ขอรับงบอุดหนุน เพื่อนำไปพัฒนาศักยภาพองค์กรให้เกิดความเข้มแข็ง จำนวน 2 องค์กร และมอบเงินฟื้นฟูอาชีพตามโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ตามมติ ครม. 7 เม.ย.55 จำนวน 3 องค์กร รวมแล้วมีสมาชิกได้รับการช่วยเหลือ 30 ราย ซึ่งสำนักงานได้เชิญสมาชิก ประธานองค์กร กรรมการ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย การใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าว สำนักงานได้มีการจัดประชุมทำความเข้าใจ อธิบายให้ทราบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินเรียบร้อยแล้ว เงินอุดหนุนที่อนุมัติให้ไปนั้น องค์กรที่ได้รับมีแผนไปศึกษาดูงานเพิ่มเติม ส่วนเงินฟื้นฟูอาชีพตามโครงการ ปคน. รายละ 7,000 บาท สำนักงานได้กำหนดให้เกษตรกรนำไปจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตร ในส่วนขององค์กรก็ได้จัดสรรงบประมาณในการติดตามประเมินผลการทำกิจกรรมของสมาชิกรายละ 400 บาท เป็นค่าติดตามรายงานผลให้สำนักงานรับทราบต่อไป เกษตรกรส่วนใหญ่ในสมุทรสงครามประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ ทำสวนผัก การจัดหาปัจจัยการผลิตก็จะเน้นไปในเรื่องของการจัดซื้อปุ๋ย ซื้อยา และอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำสวนต่างๆ คาดว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับพี่น้องเกษตรกร