เนื่องจาก เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Tip Report) จัดลำดับให้ไทยอยู่ในกลุ่มบัญชี Tier 2 Watch List หรือ ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำ แต่ยังใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยสหรัฐจับตามองว่า ธุรกิจประมงไทยเป็นธุรกิจที่แฝงการค้ามนุษย์ มีระดับความรุนแรงในการเฝ้าระวังอยู่ Tier 2 Watch List จะครบ 2 ปีติดต่อกันในสิ้นปี 2555 นี้ ซึ่งโดยปกติแล้ว หากไม่มีการรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหานี้ ไทยจะถูกปรับลดชั้นไปอยู่ในบัญชี Tier 3 หรือประเทศที่ไม่ดำเนินการตามมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำและไม่ใช้ความพยายามแก้ไขปัญหาโดยอัตโนมัติ ตามที่กำหนดในกฎหมาย TVPA - Trafficking Victims Protection Act of 2000 ฉบับปรับปรุงแก้ไขปี 2551 สิ่งที่ตามมาคือการแอนตี้สินค้าประมงจากไทย
ยกเว้นว่า ประเทศไทยจะสามารถแสดงหลักฐานได้ว่า ในรอบปีที่ผ่านมาได้มีพัฒนาการที่สำคัญสมควรให้ปรับขึ้นระดับจาก Tier 2 Watch มาเป็น Tier 2 หรือ Tier 1 และสามารถแสดงแผนงาน ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะใช้ความพยายามมากยิ่งขึ้นในการต่อต้านการค้ามนุษย์ เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะยังไม่ถูกจัดอยู่ในบัญชี Tier 3 แต่ปัจจุบัน สหรัฐฯ ได้เริ่มปล่อยมาตรการกีดกันกุ้งไทยในข้อหาด้านแรงงานนี้แล้ว โดยออกประกาศเมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา ห้ามหน่วยงานราชการทั้งหมดสั่งซื้อสินค้าจากไทย 5 ประเภท หนึ่งในนั้นคือ กุ้ง
นับเป็นสัญญาณที่น่ากังวล เพราะการส่งออกกุ้งไทยชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสสุดท้ายลดลง 8% ทำให้ปริมาณการส่งออกปีนี้จะติดลบ 6-7% ต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนตลาดครึ่งหนึ่งของลูกค้ารวมของไทย ก็มีปริมาณติดลบไปแล้ว 25% เป็นจังหวะเดียวกันกับที่ประเทศคู่แข่งในอุตสาหกรรมกุ้ง ทั้งเวียดนาม อินเดีย เอกวาดอร์ ต่างเพิ่มการผลิตมากขึ้น และดัมพ์ราคาส่งออกลงมาแข่งกับไทยเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดไป
ที่ผ่านมา TDRI และ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทำการสำรวจวิจัย พบว่า ปัญหาด้านแรงงานที่ไทยถูกสหรัฐกล่าวหานี้ ไม่ปรากฏในอุตสาหกรรมส่งออกกุ้งแต่อย่างใด รวมทั้ง จากการศึกษาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ พบว่ามีรายได้ที่สูงกว่าค่าแรงขึ้นต่ำ และยิ่งไปกว่านั้น โรงงานส่งออกกุ้งบางแห่งยังให้สวัสดิการแรงงานถึงขั้นหาที่เรียนให้ลูกของแรงงาน ตลอดจนดูแลจัดหาสวัสดิการด้านสันทนาการ ซึ่งกระทรวงต่างประเทศของไทย ได้จัดทำเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ Thailand's Efforts in the Prevention and Suppression of Human Trafficking in 2011 กับ Thailand's Efforts in the Prevention and Suppression of Human Trafficking in Fishery Industry แจ้งผ่านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แจ้งความคืบหน้าการดำเนินการของไทยในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปี 2554 ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย, แนวทางปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labor Practices หรือ GLP) สำหรับใช้บนเรือประมงไทย, การติดตั้งระบบการติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System VMS), การจัดทำแนวทางปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) สำหรับสถานประกอบการแปรรูปกุ้ง/สัตว์น้ำ หรือล้ง และโรงงานแปรรูปกุ้ง/อาหารทะเล (ห้องเย็น), การจัดทำรายการงานอันตรายสำหรับแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมกุ้ง/อาหารทะเล, การจัดตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมง, การจัดทำจรรยาบรรณสำหรับผู้ประกอบการเรือประมงไทย (Code of Conduct)