ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ.2556 — 2560 ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กกพ.มุ่งเน้นวางรากฐานให้การกำกับกิจการพลังงานของประเทศมีความมั่นคง ยั่งยืน รองรับกับนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐ โดยในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ไป กกพ. จะเน้นการทำงานในเชิงรุกให้มากขึ้น โดยจะพัฒนาระบบการตรวจสอบการประกอบกิจการพลังงาน และนำผลการตรวจสอบมาวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงการกำกับกิจการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ ในหลากหลายมิติ เพื่อให้การกำกับกิจการพลังงานสามารถดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งประชาชน ผู้ประกอบกิจการพลังงาน รวมถึงสังคม และประเทศไทย ให้ได้รับความเป็นธรรม และประโยชน์สูงสุดจากการดูแลและกำกับกิจการพลังงาน และเพื่อให้โรงไฟฟ้าและชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
โดยในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ไป (พ.ศ.2556 — 2560) กกพ. จะทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงาน 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. การเสริมสร้างมาตรฐานการกำกับดูแล และกิจการพลังงานต้องเป็นธรรมและเชื่อถือได้ โดย กกพ. จะทำให้อัตราค่าบริการพลังงานสะท้อนต้นทุนอย่างแท้จริง และเป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกส่วน ตลอดจนส่งเสริมให้มีบริการไฟฟ้าอย่างเพียงพอและทั่วถึงในทุกภูมิภาค
“ หลังจากนี้สิ่งที่ กกพ.จะเร่งดำเนินการ คือ ขยายการให้บริการไฟฟ้าสำหรับประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของประเทศทั้ง 76 จังหวัด จะต้องมีไฟฟ้าได้ใช้อย่างทั่วถึง ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมรวมถึงชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกๆด้าน ทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การศึกษา และสาธารณสุข โดยต้องได้รับการดูแลและเยียวยาจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ในขณะที่ผู้ประกอบการต้องได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อที่จะมีศักยภาพที่จะพัฒนาและผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อป้อนให้กับประเทศ ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องสำหรับใช้ในการดำเนินชีวิต และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป ” ดร.ดิเรก กล่าว
นอกจากนี้ กกพ. ลดขั้นตอน และอำนวยความสะดวกในงานการออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงการทบทวนปรับปรุงกระบวนการและระเบียบ ประกาศ และเงื่อนไขการอนุญาตให้มีมาตรฐาน และสามารถตรวจสอบได้ โดยได้ตั้งเป้าหมายจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558
2. ส่งเสริมกิจการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยงานสำคัญลำดับแรก ๆ ได้แก่ การประมูล IPP 5,400 เมกะวัตต์ที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าเกณฑ์การประมูลจะสามารถประกาศได้ในช่วงปลายปีนี้ เพื่อให้มีการเปิดการยื่นซองประมูลได้ในช่วงต้นปีหน้า ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan - PDP) ซึ่งก็จะรวมถึงการปรับปรุงหลักเกณฑ์และกระบวนการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่ (IPP) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(SPP) และผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) และแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan - AEDP) ซึ่งสิ่งสำคัญของการประมูลครั้งนี้ คือ โครงการดังกล่าวจะต้องผ่านความเห็นชอบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่ด้วยเพื่อป้องกันความเสี่ยงเรื่องการก่อสร้างไม่ได้ในอนาคต ควบคู่ไปกับการส่งเสริมกิจการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม
นอกจากนี้ กกพ. จะส่งเสริมการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ ASEAN Power Grid (APG) หรือ Trans ASEAN Gas Pipelines (TAGP) เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
3. คุ้มครองสิทธิของผู้ใช้พลังงาน ผู้มีส่วนได้เสีย โดย กกพ. จะมีแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองสิทธิผู้ใช้พลังงาน เพื่อสร้างการยอมรับและเน้นความเป็นธรรม พร้อมพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) หนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน โดยให้ความรู้ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการให้ความคุ้มครองผู้ใช้พลังงานในแต่ละพื้นที่ รวมถึงจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกๆด้าน ทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การศึกษา และสาธารณสุข โดยต้องได้รับการดูแลและเยียวยาจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าอย่างทั่วถึง
4. พัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ โดยจะดำเนินงานให้สอดคล้องกับเกณฑ์รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ(Public Sector Management Quality Award - PMQA) และการจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Award - TQA) เพื่อบริหารจัดการองค์กรตามเกณฑ์มาตรฐานสากลภายในปี 2560 และทบทวนและพัฒนาระบบฐานข้อมูลต่างๆให้เป็นศูนย์ความรู้และข้อมูลด้านพลังงาน ภายในปี 2560
ด้านนายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. กล่าวถึงการดำเนินงานของ สำนักงาน กกพ.ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้กำกับกิจการพลังงานเพื่อให้เกิดความมั่นคงทั้งการออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานรวมทั้งสิ้น 1,240 ฉบับ แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า 519 ฉบับ ใบอนุญาตประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ 14 ฉบับ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 283 ฉบับ และใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุม 424 ฉบับ
ขณะเดียวกัน ได้ปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยสำหรับปี พ.ศ.2554-2558 โดยกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับปี 2554-2558 สอดคล้องกับนโยบายที่คณะกรรมการนโยยายพลังงานแห่งชาติ โดยใช้หลักการต้นทุนหน่วยสุดท้าย (Marginal Cost) เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะแบ่งต้นทุนของกิจการไฟฟ้าตามประเภทใบอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้า 5 ประเภท โดยได้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าประเภทเดียวกันเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ (Unifrom Tariff) และ กกพ.ได้ประกาศใช้อัตราค่าไฟฟ้าใหม่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป เป็นเวลา 2 ปี และ กกพ.ยังได้พิจารณาปรับลดค่าเอฟทีเพื่อลดภาระให้ผู้ใช้พลังงาน โดยนำเงินชดเชยจากการปรับลดการลงทุนที่ต่ำกว่าแผน (Claw Back) ของ 3 การไฟฟ้า และพิจารณามาตรการอื่นๆมาช่วยบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท และให้ กฟผ. รับภาระไปก่อนเป็นการชั่วคราวประมาณ 10,504 ล้านบาท รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ จำนวน 143 คน เพื่อดูแลผู้ใช้พลังงานในพื้นที่ให้ได้รับบริการด้านไฟฟ้าที่เป็นธรรม และเหมาะสม
นอกจากนี้ ในส่วนของการดำเนินงานด้านกองทุนพัฒนาไฟฟ้า กกพ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) จนถึงปัจจุบันได้มีการประกาศแล้ว 40 กองทุน และได้เห็นชอบแผนงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 แล้ว จำนวน 37 กองทุน คิดเป็นเงินรวมประมาณ 1,648 ล้านบาททั้งนี้ กกพ.จะเร่งโอนเงินให้กองทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ คพรฟ. นำไปดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนตามความต้องการของประชาชนรอบโรงไฟฟ้าต่อไป