ทั้งนี้จากผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตร่วมกับศูนย์วิจัยความสุขชุมชน ม.อัสสัมชัญ เมื่อวันที่ 22-29 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา จากการเก็บข้อมูลในกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้หญิงอายุ 18 ปีขึ้นไป อาศัยอยู่ในเขต กทม.และปริมณฑล จำนวน 1,203 ตัวอย่าง พบว่า ในแต่ละวันผู้หญิงจะใช้เวลาทำงาน / เรียนมากที่สุด เฉลี่ย 9 ชั่วโมง 15 นาที ซึ่งมากกว่ากิจกรรมอื่นๆ และจะมีเวลาให้ครอบครัวเฉลี่ยแค่วันละ 3 ชั่วโมง 50 นาทีเท่านั้น เพื่อพบปะ พูดคุย ทานข้าว ดูทีวีร่วมกัน โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีลูก มีครอบครัวแล้ว เด็กอาจขาดที่พึ่งและมีผลต่อพัฒนาการในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ผู้หญิงเกือบ 1 ใน 4 ต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง ร้อยละ 19 ต้องรับผิดชอบครอบครัวตามลำพัง อีกร้อยละ 10 มีคนในครอบครัวหรือบุตรหลาน เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และร้อยละ 2 เคยถูกละเมิดทางเพศด้วย
รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความห่วงใยในคุณภาพชีวิตของสตรีและเด็ก ได้มีนโยบายสร้างและสนับสนุนโอกาส ให้สตรีและเด็กได้รับการพัฒนาและแสดงศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันมิให้สตรีและเด็กตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของสังคม การพัฒนาให้สตรีเป็นกลไกสำคัญในการสร้างคุณภาพให้เด็กและครอบครัว เพื่อให้เด็กสามารถเติบโตเป็นอนาคตของชาติที่สมบูรณ์พร้อมทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ มีสติปัญญาดี และเป็นกำลังสำคัญของชาติที่จะพัฒนาคนรุ่นใหม่อย่างมีคุณภาพต่อไป
รมช.กระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.)โดยกรมสุขภาพจิตและภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดทำแผนงาน เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันปัญหาและส่งเสริมสุขภาพของสตรีและเด็ก 4 แผนงานหลัก ได้แก่ 1.การให้ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อป้องกันไม่ให้สตรีและเด็กตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ เตรียมขยายบริการศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อดูแลเยียวยาสตรีและเด็กทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากความกดดันและปัญหา 2.จัดบริการคลินิกฝากครรภ์ดูแลฟูมฟักมารดาในระยะตั้งครรภ์และก่อนคลอด โดยจะตรวจคัดกรองปัญหาความเครียดและภาวะซึมเศร้า ตลอดจนให้การช่วยเหลือติดตามหญิงตั้งครรภ์ทุกรายในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ ที่มีกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ
3.จัดบริการคลินิกเด็กสุขภาพดี และคลินิกกระตุ้นพัฒนาการเด็กในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ เพื่อคัดกรองปัญหาที่เป็นอุปสรรค์ต่อการเติบโตของเด็กทุกคน และมีการกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยให้เจริญเติบโตสมวัยทุกด้าน ทั้ง ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญาครบ 100 เปอร์เซ็นต์ และ 4.โครงการ 1 คลินิก 1 โรงเรียน เป็นความร่วมมือระหว่างโรงเรียนมัธยมศึกษากับโรงพยาบาลชุมชนทุกอำเภอ เพื่อดูแลสุขภาพกายและจิตใจให้เด็กนักเรียนก้าวเข้าสู่วัยรุ่นอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้จะมีการประเมินผลการตอบรับของประชาชนเป็นระยะๆ เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาต่อไป
ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าจากการสำรวจความสุขของสตรีใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ พบว่า โดยเฉลี่ยผู้หญิงมีคะแนนความสุขเฉลี่ย 7.46 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน โดยผู้หญิง 2 ใน 3 ยืนยันครอบครัว คือสิ่งที่ช่วยสร้างความสุขและรอยยิ้มได้มากที่สุด ร้อยละ 66 รองลงมาคือการงาน การเรียน ร้อยละ 11 สิ่งที่ทำให้ผู้หญิงร้องไห้ เป็นทุกข์มากที่สุดคือ เรื่องการเงิน รายรับ รายจ่าย พบร้อยละ 28 รองลงมาคือ ครอบครัว/พ่อแม่/พี่น้อง ร้อยละ 24 เรื่องความรัก /แฟน /คู่รัก ร้อยละ 18 เมื่อถามถึงบุคคลที่จะนึกถึงคนแรกไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ กลุ่มตัวอย่างตอบว่าคือพ่อและแม่ ร้อยละ 38 รองลงมาคือลูกและสามีร้อยละ 21
หัวข้อในการจัดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2555 นี้ จึงใช้ข้อความว่า “รวมพลัง สร้างรอยยิ้มให้สตรีและเด็ก ” เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนรวมพลังสร้างคุณค่า เสริมความสุขให้กับสตรีและเด็กเกิดรอยยิ้ม มีความสุขในการดำเนินชีวิต ซึ่งกรมสุขภาพจิต จะร่วมรณรงค์ สร้างรอยยิ้มและความสุขของสตรีและเด็กให้กลับคืนมา โดยเฉพาะสตรี ถ้าสตรีมีความสุขก็จะส่งผ่านถึงลูก สามีและสมาชิกในครอบครัว โดยจะเน้นรณรงค์และสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสตรีและครอบครัวใน 3 สุข และ 3 คุณค่า คือ “สุขเพราะสุขภาพดี สุขเพราะมีความพร้อมทั้งทางใจ ทางกาย และสังคม สุขเพราะมีความสมดุลเรื่องงานและครอบครัว” และ 3 คุณค่าของสตรีไทย คือ คุณค่าสตรีไทยอยู่ที่ “ความมีจิตใจละเอียดอ่อน การทำงาน และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว