‘ดร.วิษณุ’ แนะ มรภ.สงขลา ตั้งสถาบันวิชาชีพครู ร่างแผนฯ 4 ปี ทำ 3 ภารกิจหลักหัวใจราชภัฏ

จันทร์ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๐๑๒ ๑๔:๕๗
ดร.วิษณุ เครืองาม วิพากษ์แผนฯ 4 ปี มรภ.สงขลา ชี้ยึด 3 ภารกิจหลักหัวใจราชภัฏ ตั้งสถาบันพัฒนาวิชาชีพครู ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมวิพากษ์ร่างนโยบายและแผนพัฒนา มรภ.สงขลา ประจำปี 2556-2559 ณ โรงแรมมาริไทม์ ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท จ.กระบี่ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า การวางนโยบายและแผนพัฒนามหาวิทยาลัยในช่วงเวลา 4 ปีต่อจากนี้ คงต้องมองอะไรที่กว้างไกลออกไป โดยเฉพาะการมีปฏิสัมพันธ์กับหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ เพราะ มรภ.สงขลา ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวลำพัง แต่เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพราะฉะนั้นต้องดูว่าทิศทางของมหาวิทยาลัยราชภัฏอีก 39 แห่ง เป็นอย่างไร โดยเฉพาะอีก 4 แห่งที่อยู่ในภาคใต้ ซึ่งถือเป็นเครือเดียวกัน ถ้าจะให้ดีก็อาจจะต้องชำเลืองมหาวิทยาลัยอื่น ที่ทำมาหากินอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน ต้องรู้เขารู้เราในการที่จะกำหนดแนวทางและนโยบายการพัฒนา ภาษาทางธุรกิจก็คือต้องแข่งขันกัน หากทุกแห่งคิดจะเปิดสาขาใด หรือจะทำอะไรเหมือนกันหมด ลงท้ายก็เจ๊ง การรู้เขารู้เราทำให้สามารถสร้างความแตกต่างท่ามกลางความเหมือน ซึ่งถ้าทุกคนคิดและทำได้แบบนี้ก็จะอยู่รอด

นายกสภา มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า อุดมการณ์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ไม่ว่าที่ใดก็ตามผูกติดไว้กับ 2-3 เรื่อง คือ การพัฒนาวิชาชีพครู การบริการท้องถิ่น และ การส่งเสริมสนับสนุนประสานงานกับโครงการพระราชดำริ ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นหัวใจของราชภัฏ เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็จำเป็นต้องทำภารกิจที่ได้รับการฝากฝังหรือมอบหมายให้ทำอย่างดีที่สุด อย่างอื่นเป็นเรื่องประกอบ หากทำ 3 ภารกิจนี้ได้ไม่ดีหรือไม่ได้ผล ก็เท่ากับสูญเสียความความเป็นราชภัฏไปโดยสิ้นเชิง ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมา มรภ.สงขลา ยึดหลักการเหล่านี้อยู่แล้ว แต่จากนี้ไปคงต้องทำให้เข้มข้นขึ้น เพราะเดี๋ยวจะเห่ออาเซียนจนกระทั่งลืมไปว่าอาเซียนไม่ได้อยู่ใน 3 ภารกิจหลัก วันนี้ทุกแห่งพูดถึงแต่เรื่องอาเซียน ซึ่งก็ถูกต้องและดีแล้ว แต่สุดท้ายจะไปอาเซียนกันหมด ในขณะที่โครงการพระราชดำริที่ทำอยู่ใกล้ๆ หรือการพัฒนาพื้นที่ การร่วมมือกับท้องถิ่น หรือแม้แต่ใกล้กับเราที่สุดคือลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จะไม่มีผู้ใดไปสนใจ

“ผมมองว่าเราหนีไม่พ้นเรื่องสถาบันพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งคนอื่นเขาไม่ทำแล้ว แต่ถ้าราชภัฏไม่ทำใครจะทำ คำว่าวิชาชีพครูสามารถเอาอะไรใส่เข้าไปได้ตั้งหลายอย่าง สถาบันที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง หรือจะเป็นสถาบันที่เกี่ยวกับการเรียนรู้โครงการพระราชดำริ แล้วแต่จะเรียก แต่ว่าตรงนี้เป็นที่ที่สามารถให้คนมาเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ ปรัชญาเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง หรือการเอาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ในการทำธุรกิจ หรือในเรื่องต่างๆ ได้” ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าวและว่า

ต้องกลับมาสู่จุดที่เป็นรากฐานให้ได้ โดยอาจมีการก่อตั้งสถาบันพัฒนาวิชาชีพครู มรภ.สงขลา ขึ้นเป็นกิจจะลักษณะ และก่อตั้งศูนย์หรือสถาบันเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในแง่ของการเรียนการสอน และการปฏิบัติ ที่สำคัญคือเอามาเป็นแบบอย่างให้คนอื่นได้เรียนรู้ โดยมี มรภ.สงขลา เป็นต้นแบบองค์ความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วง 4 ปีต่อจากนี้ คือ อยากฝากให้ มรภ.สงขลา รับเป็นเจ้าภาพงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นคลังวิทยาความรู้ และเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต การทำมาหากิน การประมง หรืออื่นใดก็ตาม ซึ่งเป็นอีกงานหนึ่งที่น่าจะเชิดหน้าชูตา และทำให้ มรภ.สงขลา มีบทบาทในประเทศและในประชาคมอาเซียนได้

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ตนเล็งไปที่สตูล และรู้สึกดีใจที่ ผศ.ดร.ไพโรจน์ ด้วงวิเศษ อธิการบดี มรภ.สงขลา ได้ริเริ่มโครงการวิทยาเขตสตูลเอาไว้ ท่ามกลางเสียงที่อาจจะไม่เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเบื้องต้นคงเป็นเช่นนั้น แต่ต่อไปหนีไม่พ้นที่จะต้องพัฒนาสตูลขึ้นมาให้เป็นกิจจะลักษณะให้มากกว่านี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เอื้อในทางยุทธศาสตร์หลายอย่าง เหมาะที่จะไปเริ่มสิ่งใหม่ๆ ที่นั่น วันนี้ทุกคนเห่ออาเซียน ซึ่งบทบาทของ มรภ.สงขลา กับอาเซียน หากจะเปิดตัวออกไปสตูลเป็นชัยภูมิที่เหมาะที่สุด กล่าวคือ 1. อยู่ในชุมชนมุสลิมที่ปลอดภัยและเป็นมิตร 2. รัฐให้การสนับสนุนที่ใครจะช่วยเข้าไป เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เอางานเล็กๆ ไปแบ่งและไปทำเสียตรงนั้น ซึ่ง มรภ.สงขลา ต้องพยายามสร้างจุดแข็งที่สุดของตัวเอง โดยนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับการที่จะบริหารมหาวิทยาลัย ว่าทำอย่างไรที่จะทำไปโดยความสมเหตุสมผล โดยที่มีภูมิคุ้มกันของเราเอง ต้องหาว่าภูมิคุ้มกันของ มรภ.สงขลา อยู่ตรงไหน ที่ผ่านมาคณะผู้บริหารได้พยายามเปิดตัวมหาวิทยาลัยออกสู่โลกภายนอก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะคำว่าเข้าอาเซียนไม่ได้แปลว่าเปิดประตูรอให้เขาเดินเข้ามาเรียนกับเรา แต่บางครั้งเราต้องเปิดประตูออกไปหาเขา และบางครั้งเราไม่ไปหาเขา เขาไม่มาหาเรา แต่ไปเจอกันครึ่งทางตรงไหนสักแห่ง คือจับมือทำอะไรร่วมกัน ก็ถือเป็นการต้อนรับเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version