อุทยานธรณี เป็นโปรแกรมหนึ่งของยูเนสโก (The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization; UNESCO ) ที่ต้องการปกป้องพื้นที่มรดกทาง ธรณีวิทยาที่มีความสวยงาม โดดเด่น และรักษาหลักฐานทางธรณีวิทยาที่สำคัญ รวมทั้งเสริมความรู้ด้านธรณีวิทยาให้ประชาชนที่เข้าชมอุทยานธรณี นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนรอบข้างอย่างยั่งยืนผ่านการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา เชิงวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น นำเที่ยว เป็นวิทยากร และการบริการต่างๆ
ถึงตอนนี้เริ่มมึนแล้วใช่ไหมครับว่า อุทยานธรณี หมายถึงอะไรแน่ สรุปสั้นๆ อุทยานธรณี ในความหมายของยูเนสโก หมายถึง “พื้นที่ที่ประกอบด้วยแหล่งที่มีความสำคัญอย่างโดดเด่นทางด้านธรณีวิทยา และยังรวมถึง คุณค่าทางด้านโบราณคดี (Archaeology) นิเวศวิทยา(Ecology) และวัฒนธรรม(Culture ) ” โดยยูเนสโก จะเชิญชวนให้ประเทศต่างๆ จัดทำข้อเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นเครือข่ายอุทยานธรณีระดับโลก (Global Geoparks Network; GGN)
ซึ่งปัจจุบันนี้ มีอุทยานธรณีที่ขึ้นทะเบียนเป็นเครือข่ายอุทยานธรณีระดับโลกมีทั้งหมด 88 แห่ง ใน 27 ประเทศทั่วโลก ทั้งในทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา ทวีปเอเชีย และทวีปออสเตรเลีย ในทวีปเอเชีย มีอยู่หลายประเทศ เช่น จีน อิหร่าน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม และที่อยู่ติดกับเราคือ ประเทศมาเลเซีย ส่วนประเทศที่มีอุทยานธรณีระดับโลกมากที่สุด ก็อยู่ในเอเชียเรานี้เองคือ จีน ซึ่งมีมากถึง 26 แห่ง โดยอุทยานธรณี Chablais Geopark ประเทศฝรั่งเศส ได้รับการประกาศเป็นเครือข่ายอุทยานธรณีระดับโลกล่าสุด (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2555)
สัญลักษณ์ของเครือข่ายอุทยานธรณีระดับโลก ซึ่งอุทยานธรณีแห่งใดได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นเครือข่ายอุทยานธรณีระดับโลกแล้ว จะได้รับการยินยอมจากยูเนสโกให้ใช้สัญลักษณ์นี้ติดที่อุทยานธรณีแห่งนั้นได้
ตอนนี้หลายคนเริ่มสงสัยแล้วว่า "อุทยานธรณี” มันมีดีหรือมีประโยชน์อย่างไร ทั่วโลกถึงได้ให้ความสำคัญ มีการจัดตั้งอุทยานธรณีกันอย่างแพร่หลาย สำหรับประโยชน์ของอุทยานธรณีนั้นมีอยู่มากมายจริงๆครับ สรุปที่สำคัญได้แก่
1. เป็นการอนุรักษ์มรดกทางธรณีวิทยาที่มีความสำคัญและมีคุณค่าทางวิชาการไม่ให้ถูกทำลาย รวมทั้งป้องกันและรักษาแหล่งโบราณคดี แหล่งนิเวศวิทยา และศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่สำคัญของท้องถิ่น ไม่ให้สูญเสียหรือสูญหายไป
2. ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ
3. สร้างอาชีพให้กับชุมชนจากการแสดงทางวัฒนธรรม การขายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น การนำเที่ยว การเป็นวิทยากร และการบริการต่างๆ ทั้งยังเป็นการช่วยรักษาและสืบทอดวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง
4. เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า วิจัย และเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป รวมทั้งนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ
5. เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่น ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ ทำให้เศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่นดีขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติโดยรวม รวมทั้งช่วยให้ชุมชนมีความรู้พื้นฐานทางด้าน earth sciences และร่วมเป็นเครือข่ายในการรักษาปกป้องสิ่งแวดล้อมลดภาระภาครัฐ
6. ช่วยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของท้องถิ่นและประเทศชาติให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกเห็นประโยชน์ของอุทยานธรณีที่มีอย่างมากมายอย่างนี้แล้วสงสัยไหมครับว่า ประเทศไทยมีอุทยานธรณีหรือยัง ตอบได้เลยทันที่เลยครับว่า...ยัง....แต่...กรมทรัพยากรธรณี ได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งอุทยานธรณีแล้วนะครับ โดยในปี 2553 ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดสตูล และในปี 2554-55 ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดเลย อุบลราชธานี และขอนแก่น แล้วสงสัยต่อไปไหมครับว่าเขาจัดตั้งกันอย่างไร? มีขั้นตอนหรือกระบวนการอย่างไร? ถ้าสงสัย…รอตอนต่อไปครับ.....
สนับสนุนข้อมูลโดย
สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย