หินอะไรลอยน้ำ?

อังคาร ๑๓ พฤศจิกายน ๒๐๑๒ ๑๐:๓๘
ขึ้นชื่อว่าหิน ก็ต้องมีความหนักและแข็งคู่กัน ผู้เขียนได้รับทราบข้อมูลว่ามีหินที่ลอยน้ำได้ในพื้นที่ต่างจังหวัด ก่อเกิดคำถามอยู่ในใจว่าหินอะไรลอยน้ำได้? วันนี้ได้รับความกรุณาจาก ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล นักธรณีวิทยา ได้ให้ความรู้ถึงที่มาว่าทำไมหินจึงลอยน้ำได้ ซึ่งได้บอกไว้ดังนี้.......วัตถุใดๆ ทั้งที่เป็นธรรมชาติหรือสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้น จะจมหรือลอยน้ำ ก็ขึ้นอยู่กับความถ่วงจำเพาะของวัตถุนั้นๆ ว่ามากหรือน้อยกว่าเมื่อเทียบกับน้ำที่มีปริมาตรเท่ากัน ถ้ามากกว่าก็จม ถ้าเบากว่าก็ลอย บางท่านอาจสงสัยว่า ความถ่วงจำเพราะคืออะไร ทำไมสำคัญนัก

ความถ่วงจำเพาะ เป็นอัตราส่วน เปรียบเทียบ ระหว่างค่าความหนาแน่นของวัตถุ กับค่าความหนาแน่นของน้ำ (น้ำจืด) ซึ่งมักถูกใช้เป็นของไหลมาตรฐาน และเมื่อความหนาแน่นน้ำมีค่าประมาณ 1 กรัม ต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ดังนั้น ค่าความถ่วงจำเพาะของวัตถุใด ๆ จึงมีค่าใกล้เคียงหรือเท่ากับค่าความหนาแน่นของวัตถุนั้น ๆ

หินที่จะลอยน้ำได้ จึงต้องมีคุณสมบัติทางกายภาพเฉพาะ คือ มีความถ่วงจำเพาะน้อยกว่าน้ำ คือต่ำกว่า ๑ ยิ่งมีค่าต่ำกว่า ๑ มาก หินนั้นก็ยิ่งจะลอยพ้นน้ำได้สูงมากขึ้น ในธรรมชาติ หินที่ลอยน้ำได้มีเพียงหินกลุ่มเดียว คือหินภูเขาไฟหรือหินอัคนีพุ ที่แข็งตัวจากลาวาเหลวพวกที่มีไอน้ำ แก๊สและสารละเหยอื่นๆ ปนอยู่มาก ฟองก๊าซเหล่านี้กลายเป็นโพรงหรือช่องว่างที่มีขนาดและรูปร่างต่างๆที่มักไม่มีการเชื่อมต่อถึงกัน ปริมาตรของช่องว่างในหินและองค์ประกอบของหินเทียบกับมวลหินนั้น เป็นตัวกำหนดค่าความถ่วงจำเพาะของหินนั้นๆ หินภูเขาไฟที่พบว่าลอยน้ำได้ดีมาก คือ หินพัมมิซ (Pumice) ส่วนหินสคอเรีย (Scoria) นั้น พบลอยน้ำได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่มักมีความถ่วงจำเพาะใกล้เคียง และมากกว่าน้ำ จึงลอยน้ำได้ไม่ดีเท่าชนิดแรก ความเหมือนและความแตกต่างของหินทั้งสองชนิด เป็นดังนี้

หินพัมมิซ (Pumice) เป็นหินแก้วภูเขาไฟที่มีรูพรุนมาก ลักษณะรูพรุนทรงกลม ทรงรี่ และเป็นรูยาวขนานกับแนวการไหลของลาวา อาจมีหรือไม่มีผลึกแร่เป็นองค์ประกอบ มีสีจาง ขาว สีเทา และอาจมีสีเข้ม พัมมิซเกิดเมื่อลาวาเหลวภายใต้ความดันสูงที่มีความร้อนสูงสุดยอด ถูกดันออกมาจากปล่องภูเขาไฟ หินพัมมิซที่มีลักษณะคล้ายโฟมเกิดขึ้นเนื่องจากความดันและอุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็วเฉียบพลัน ทำให้เกิดรูพรุนเล็กๆมากมายที่มีพนังบางเป็นเนื้อแก้ว เนื่องจากแก๊ส เช่น ไอน้ำ คาร์บอนไดอ๊อกไซต์ ที่ละลายอยู่ในลาวา ถูกขับออกมาอย่างรวดเร็ว ทำให้มีค่าความพรุนเฉลี่ยประมาณ ร้อยละ ๙๐ ส่วนองค์ประกอบนั้น ส่วนใหญ่ เป็นลาวากลุ่มที่มีซิลิกาสูงพวกไรโอไลต์ (Rhyolite) และสูงปานกลาง พวกแอนดีไซต์ (Andesite) หินพัมมิซเป็นผลิตผลของการระเบิดของภูเขาไฟแบบรุนแรงมาก โดยมักเกิดเป็นโซนที่อยู่ส่วนบนของลาวากลุ่มที่มีซิลิกาสูง ก่อนที่บางส่วนถูกพ่นออกมาพร้อมการระเบิดของภูเขาไฟ ความถ่วงจำเพาะของหินพัมมิซขึ้นอยู่กับความหนาของผนังของโพรงที่เป็นส่วนเนื้อหิน หินพัมมิซส่วนใหญ่ ลอยน้ำได้ดีมาก และอาจถูกกระแสน้ำพาไปได้ไกลๆ ตัวอย่าง เช่น การระเบิดของ ภูเขาไฟปินาตูโบ บนเกาะลูซอน ของประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๑๙๙๑ หินพัมมิซของปินาตูโบถูกกระแสน้ำทะเลพัดเข้ามาในฝั่งอ่าวไทย บริเวณจังหวัดระยอง ชลบุรี ประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ในปีเดียวกัน (ดูรูปประกอบ) หินพัมมิซจากการระเบิดของภูเขาไฟกะระคาตั้วในปี ค.ศ. ๑๘๘๓ ลอยเป็นแพอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกนานร่วม ๒๐ ปี (Wikipedia)

เนื่องจากหินพัมมิซมีลักษณะเป็นเนื้อแก้ว จึงไม่มีความเสถียร กล่าวคือ หินดังกล่าวจะถูกเปลี่ยนสภาพค่อนข้างง่าย จึงไม่พบหินแก้วภูเขาในกลุ่มหินที่มีอายุเก่าแก่มาก หินแก้วภูเขาไฟชนิดนี้ที่เกิดในประเทศไทย พบเพียงแห่งเดียวที่บริเวณอำเภอลำนารายณ์และอำเภอนาโบสถ์ จังหวัดลพบุรี แต่หินถูกบีบอัดจนไม่ค่อยเหลือสภาพรูพรุนให้เห็น ความถ่วงจำเพาะจึงสูงขึ้นมากและลอยน้ำไม่ได้ อายุของหินดังกล่าวประมาณ ๑๑ ล้านปี

หินสคอเรีย (Scoria) เป็นหินภูเขาไฟที่มีรูพรุ่นมากอีกชนิดหนึ่ง ต่างจากหินพัมมิซที่มีรูพรุนใหญ่กว่า ผนังของรูพรุนหนากว่า มีเนื้อผนังเป็นพวกหินบะซอลต์ที่มีผลึกแร่ขนาดเล็กปนเนื้อแก้วอยู่บ้าง สีเข้มดำ สคอเรียเกิดจากแมกม่าที่มีธาตุซิลิกาต่ำ พวกบะซอลติกลาวา จึงมีความหนืดต่ำกว่า ภูเขาไฟองค์ประกอบนี้ระเบิดไม่รุนแรง ลาวาไหลได้เร็วดีกว่าเพราไม่หนืดมากเหมือนลาวากลุ่มแรก หินสคอเรีย จึงมีความถ่วงจำเพาะ หรือความหนาแน่นสูงกว่าหินพัมมิซ อย่างไร ก็ตาม หินสคอเรียบางก้อนที่มีรูพรุนมากเป็นพิเศษ อาจเบากว่าน้ำ คือมีความถ่วงจำเพาะน้อยกว่า ๑ จึงสามารถลอยน้ำได้ ซึ่งพบได้ไม่มากนัก

ในประเทศไทย พบหินบะซอลต์ที่มีลักษณะเนื้อหินเป็นรูพรุน แบบ หินสคอเรีย (Scoriaceous basalt) ในหลายพื้นที่ เช่น เขากระโดง เขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ภูผาคอกหินฟู และภูจำปาแดด อำเภอแม่เมาะ อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง เป็นต้น กลุ่มหินข้างต้น ส่วนหนึ่งมีอายุต่ำกว่า ๑ ล้านปี ตัวอย่างหินสะคอเรีย เช่น หินบะซอลต์ที่โผล่ข้างถนนทางหลวงหมายเลข ๑ เถิน — ลำปาง บ้านสบปราบ

หินลอยน้ำที่วัดบ้านชั่ง หมู่ที่ 2 ต.ท่าเดื่อ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ หินมีลักษณะมน ป้อม ขนาดยาว 58 เซนติเมตร กว้าง 39 เซนติเมตร มีความหนา 29 เซนติเมตร น้ำหนัก 30 กิโลกรัม ข้อมูล เบื้องต้นแจ้งว่า ชาวประมง ไปหาปลาไปพบลอยน้ำอยู่ที่ ทะเลสาปดอยเต่า อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ปริมาตรของวัตถุข้างต้นประมาณ เท่ากับ 58 x 39 x 29 x 0.9 ลบ.ซม. หรือเท่ากับน้ำหนักน้ำ 50.83 กิโลกรัม ความถ่วงจำเพาะของวัตถุ หรือหินก้อนนี้ โดยประมาณจึงน่าจะเท่ากับ 0.59 (30,000/50,830 กรัม) คือเบากว่าน้ำเกือบครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับน้ำที่มีปริมาตรเท่ากัน จึงลอยน้ำได้ แต่ไม่ดีนัก

หินที่พบของวัดบ้านชั่ง อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นวัตถุทรงมนสีทองเรื่อๆ พื้นผิวค่อนข้างมนเรียบ ไม่เห็นรูพรุน สีทองดูไม่เป็นธรรมชาติ ต้องตรวจสอบดูว่าเป็นวัตถุธรรมชาติหรือไม่ บอกไม่ได้จากรูป บอกได้เพียงว่าประกอบด้วยวัสดุมวลเบา หินอื่นที่เบากว่าน้ำส่วนใหญ่เป็นหินภูเขาไฟประเภทหินพัมมิซ (pumice) และหินสคอเรีย (scoria) บางก้อนตามข้อมูลที่กล่าวข้างต้ ลักษณะเด่นของหินกลุ่มนี้ ต้องมีรูพรุนให้เห็นชัดเจน โดยเฉพาะหินพัมมิซ ส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักเบากว่าน้ำมาก อาจเป็น ๒ - ๓ เท่า ส่วนหินสคอเรีย ซึ่งเป็นพวกหินบะซอลต์ ก้อนที่จะลอยน้ำได้ต้องมีรูพรุนมากเป็นพิเศษ

สำหรับภาพหินด้านบน ดูแล้วคล้ายมีรูพรุนขนาดเล็ก ยาวๆ แต่ก็ไม่ชัดเจนนัก ซึ่งไม่สามารถยืนยันว่าหินก้อนดังกล่าวเป็นหินชนิดใด ถ้าเป็นหินธรรมชาติ อาจตอบกว้างๆได้ดังนี้

๑) ถ้าเป็นก้อน หินพัมมิซ (pumice) คงไม่ใช่หินที่เกิดขึ้นในพื้นที่แน่นอน น่าจะมีการนำมาจากที่อื่น ส่วนมาได้อย่างไร มาจากที่ไหน มีการนำมาตั้งแต่เมื่อไร คือคำถามที่ต้องหาคำตอบ

๒) ถ้าเป็นก้อนหินสคอเรีย (scoria) แหล่งหินที่ใกล้ที่สุด เท่าที่ทราบอยู่บริเวณบ้านสบปราบ บริเวณถนนหมายเลข ๑ ช่วงระหว่าง เถิน — ลำปาง หรืออาจเป็นแหล่งหินชนิดนี้ที่ยังไม่เคยมีรายงานการสำรวจพบบริเวณอ่างดอยเต่า

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO