นอกจากนี้ได้กำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาและส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยอย่างใกล้ชิด การสำรวจและจัดหาวัตถุดิบจากต่างประเทศในปริมาณที่เพียงพอ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเครื่องประดับและสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในการผลิต การเจียระไน การออกแบบและการบริหารการจัดการ ตลอดจนศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลสินค้าในตลาดต่างประเทศ การพัฒนาบุคลากรในธุรกิจให้มีความสามารถรองรับการขยายตัวของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในการผลิต ออกแบบ ตลอดจนการบริหารการจัดการ และการขยายตลาดใหม่ๆ โดยสนับสนุนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การจัดคณะผู้แทนการค้า และพัฒนาการซื้อขายสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ
“จุดแข็งของอุตสาหกรรมอัญมณีฯไทย คือ มีการพัฒนาอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะมีความชำนาญในการพัฒนาสินค้าที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ผู้ส่งออกมีความเข้าใจตลาด และผู้ค้าในตลาดโลกรู้จักไทยมากกว่าคู่แข่งในตลาดใหม่ ไทยเป็นตลาดการค้าพลอยสีที่ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ขณะที่ช่างไทยมีฝีมือในการเผาพลอย ทำได้สี และตั้งน้ำพลอยได้สวยงาม และช่างฝีมือไทยมีทักษะและฝีมือประณีตในการดีไซน์ และขึ้นรูปเครื่องประดับ”นางศรีรัตน์ กล่าว
ในช่วง 9 แรกของปีนี้มีมูลค่าส่งออก 10,931 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไม่รวมสินค้ากลุ่มทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป ที่มีมูลค่า 4,935.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1% โดยการส่งออกสินค้าเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเทียม อัญมณีสังเคราะห์ และทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่อัญมณี เครื่องประดับเงิน โลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่นๆ ปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ ด้วยราคาทองคำยังไม่ขึ้นรูป ซึ่งผันผวนในขาลงตั้งแต่ต้นปี เริ่มปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มสูงขึ้น ผลักดันให้ภาพรวมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับรอบ 9 เดือน ขยายตัวเป็นบวก
การส่งออกสินค้าอัญมณีฯ(หักทองคำยังไม่ขึ้นรูป)ที่น่าสนใจ ได้แก่ เครื่องประดับเงินของไทย โดยในช่วง 9 เดือน มีมูลค่า 1,108.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.8% ตลาดส่งออกหลักของสินค้าเครื่องประดับเงินยังคงเป็นสหรัฐฯ ซึ่งการส่งออกสินค้าเครื่องประดับเงินไทยไปสหรัฐฯมีมูลค่า 493 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งของมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวลดลง 5% ขณะที่ตลาดหลักอื่นๆ ได้แก่ เยอรมนีและเดนมาร์ก สัดส่วนตลาดคิดเป็น 17% และ 8% ตามลำดับ
การส่งออกอัญมณีฯไปยังตลาดหลัก อาทิ ฮ่องกง เยอรมนี และญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ เบลเยียมและอินเดีย ขยายตัวลดลง 9% 0.31% และ 22% ตามลำดับ เนื่องจากยังประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และอินเดียมีการปรับเปลี่ยนภาษีขาเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ อย่างไรก็ดีการส่งออกไปยังตลาดใหม่ อาทิ สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์(ยูเออี) เลบานอน มีการขยายตัวมากขึ้น
ตลาดหลักอัญมณีและเครื่องประดับสวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วน 75% โดยตลาดหลักสินค้าอัญมณีฯ ฮ่องกง สหรัฐฯ เยอรมนีและเบลเยียม 56% ตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูง เยอรมนี 48% ยูเออี 41% สิงคโปร์ 92% เลบานอน 261% และออสเตรีย 58%