โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ปรับทัพรับมือเปิดเสรีอาเซียนปี 2558 นำร่องพัฒนาหลักสูตรมุ่งสู่สากล ชูพัฒนาองค์ความรู้ โรคอุบัติใหม่ เร่งยกระดับทักษะภาษา ขีดความสามารถพยาบาลไทย ตั้งเป้าสถาบันพยาบาลชั้นนำทางเลือกอันดับ 1 พร้อมเตรียมปรับแผนผลิตพยาบาลเพิ่มรองรับความต้องการจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุในอาเซียนและการขยายตัวของผู้ใช้บริการสุขภาพ
ผศ.ดร.จริยา วิทยะศุภร ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ถือเป็นปัจจัยท้าทายของประเทศไทยในอนาคตที่อาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขโดยเฉพาะปัญหาความขาดแคลนพยาบาล โดยมีสาเหตุมาจาก 1. การไหลออกของพยาบาลวิชาชีพไปยังประเทศเพื่อนบ้านจากการที่วิชาชีพพยาบาล ถือเป็น 1 ใน 7 แรงงานฝีมือตามกรอบ Mutual Recognition Arrangement : MRA ที่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในอาเซียน ซึ่งทำให้นักวิชาชีพสามารถเข้าไปทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียนได้สะดวกขึ้น 2. การไหลเข้ามาของผู้ใช้บริการด้านสุขภาพในฐานะที่ไทยเป็น ”ศูนย์กลางสุขภาพ” (Medical Hub) ในเอเชีย ซึ่งสะท้อนภาพการเติบโตอย่างสวนทางของความต้องการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยกับจำนวนพยาบาลที่มีอยู่และสามารถผลิตได้ในแต่ละปี
การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ยังมีประเด็นที่ท้าทายที่เกิดจากโรคอุบัติใหม่จากการเคลื่อนย้ายคนโดยเสรี รวมไปถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุของหลายประเทศในอาเซียน อย่าง สิงคโปร์ เวียดนาม รวมถึงไทย ที่ในปี 2558 ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น 11-12% 17% และ 8% ตามลำดับ ซึ่งทำให้ความต้องการพยาบาลในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นด้วย
ผศ.ดร.จริยา กล่าวว่า โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ถือเป็นโรงเรียนพยาบาลชั้นนำในประเทศที่มีบทบาทหลักในการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพื่อรับใช้สังคมมาอย่างต่อเนื่อง มีความตระหนักในเรื่องนี้และได้เตรียมพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยมุ่งเน้นทั้งในเรื่อง
1. การพัฒนาหลักสูตรพยาบาลยังคงรักษาระดับมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับของทั้งในประเทศและระดับสากล รวมถึงปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับบริบทของความเปลี่ยนแปลงในอาเซียน
2. การปรับแผนการผลิตพยาบาลที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตภายใต้โครงการพัฒนาของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการมุ่งสู่การเป็นสถาบันชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย
สำหรับการพัฒนาหลักสูตรพยาบาลจะมุ่งเน้นการจัดการศึกษานานาชาติ ทั้งวิธีการเรียนการสอนที่ใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แบบ Problem Based Learning จิตปัญญาศึกษา และ Transformative Education ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับพยาบาลวิชาชีพ ได้แก่ การเป็นผู้นำ การติดต่อสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ความสามารถในการตัดสินใจ ฯลฯ และเป็นทักษะที่ทำให้พยาบาลสามารถเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ ในอนาคตได้ตลอดเวลา รวมไปถึงการพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษผ่านจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีแบบ 2 ภาษา ทั้งยังจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรพยาบาลนานาชาติในระดับปริญญาเอกโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย และในอนาคตอันใกล้ยังเตรียมที่จะเปิดหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญาโทอีกด้วย
นอกจากนี้ยังเตรียมปรับแผนที่จะเพิ่มความสามารถในการผลิตพยาบาลเพื่อให้ทันกับความต้องการพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่ผลิตได้ 230 คนต่อปี ภายใต้โครงการพัฒนาของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการมุ่งสู่การเป็นสถาบันชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นการปรับตัวเพื่อเตรียมการรับมือกับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญและเป็นบทบาทเชิงรุกในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมๆ ไปกับความมุ่งมั่นในการเป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลชั้นนำที่พร้อมจะเป็นทางเลือกอันดับ 1 ของผู้ที่สนใจวิชาการพยาบาลทุกคน
“หลายคนอาจคิดว่า AEC จะทำให้เกิดปัญหาสมองไหล ประเทศไทยจะสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถในการพัฒนาประเทศไป แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งจะพบว่า AEC ทำให้เกิดแรงผลักดันเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและมีการพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้เข้าสู่มาตรฐาน ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป นอกจากนี้การรวมตัวในภูมิภาคอาเซียนยังจะเป็นการเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการผลักดันบุคลากรของไทยให้เข้าสู่เวทีระดับโลกได้อีกด้วย” ผศ.ดร.จริยากล่าวในที่สุด