นายศรายุธ อัสสมกร กรรมการผู้จัดการ ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนที่มีผลสำเร็จด้านอัตราการตั้งครรภ์ในระดับสากลและมีเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย เปิดเผยว่า ภายหลังจากการร่วมงานในประเทศพม่าเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเยี่ยม ทำให้เชื่อมั่นในศักยภาพหลายๆด้าน จึงตัดสินใจเปิดศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที ในประเทศพม่า ซึ่งนับได้ว่าเป็นการขยายสาขาครั้งแรกในต่างประเทศ
“ปัจจุบันสัดส่วนของผู้มาใช้บริการของศูนย์ฯ ในไทย แบ่งเป็นชาวต่างชาติ 80% และชาวไทย 20% ซึ่งในชาวต่างชาติ 80% นี้เป็นกลุ่มชาวพม่าถึง 10% ทำให้เราเห็นโอกาสในการตอบโจทย์วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้คือต้องการนำเทคโนโลยีที่เรามี ซึ่งถือเป็นศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากเพียงแห่งเดียวในเอเชียไปเผยแพร่ในกลุ่มประเทศแถบเอเชียด้วยกัน เพื่อดึงคนไข้เหล่านี้มาใช้บริการในไทย อีกทั้งการไปเปิดหน้าบ้านหรือเปิดศูนย์ให้บริการที่พม่ายังเป็นการอำนวยความสะดวก เพิ่มความง่าย ลดความยุ่งยาก เพราะขั้นตอนจริงๆ ในการรักษาใช้เวลาหลายเดือน เราเลยเลือกมีงานบริการบางส่วนทำในพม่า แต่ในด้านงานบริการหลักอื่นๆ ยังอยู่ในไทย โดยเราหวังว่าจะมีคนไข้ที่มีความเสี่ยงในโรคทางพันธุกรรมมาใช้บริการมากขึ้น เพราะพม่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีภาวะการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมที่สูง อาทิ โรคธาลัสซีเมีย ซึ่งปัจจุบันเราใช้บุคลากรทางการแพทย์ในพม่าที่ผ่านการฝึกอบรมให้ความรู้โดยแพทย์ของเรา ซึ่งเรามีระบบการตรวจสอบ และต้องรับรู้ทุกกระบวนการ ทุกเคส มีการตรวจสอบและติดตามผลตั้งแต่ผลแล็บ ผลอัลตร้าซาวน์ ทุกอย่างต้องออนไลน์กันได้หมด” นายศรายุธกล่าว
นายศรายุธยังได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของศูนย์เพื่อรองรับการเปิดประตูอาเซียนในปี 2558 นี้ว่า “เรามีวัตถุประสงค์ตั้งแต่เริ่มแรกอยู่แล้วว่าเราคงไม่ได้จำกัดการทำงานอยู่ภายในประเทศ การเปิดประตูอาเซียนทำให้เราทำงานหลายๆ อย่างง่ายขึ้น เพราะจะลดข้อจำกัดที่มีบางข้อในปัจจุบัน แต่ด้วยการวางแผนดังกล่าวไว้ตั้งแต่เริ่มแรก ทำให้เราเหมือนเปิดประตูอาเซียนไปล่วงหน้าเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพราะเราต้องเตรียมค้นหาและฝึกอบรมให้ความรู้กับพันธมิตร อีกทั้งเตรียมงานในด้านต่างๆ ของเราที่ต่างประเทศ ซึ่งนั่นหมายถึงเราจะไม่มีการย้ายบุคลากรการแพทย์ไปที่อื่น แต่เราจะกลายเป็น Hub ที่เขาต้องมาเรียนกับเรา ซึ่งผมมองว่ามันเป็นจุดต่างที่เราไม่เหมือนที่อื่น”
นายศรายุธยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันอัตราความสำเร็จของผู้ที่มาใช้บริการของศูนย์ฯ อยู่ที่ 43% หากเทียบในระดับสากลที่อยู่ในระดับ 38-40% และนอกจากจะรักษาผู้มีบุตรยากแล้วเจตนารมย์ของทางศูนย์คือ ต้องการลดการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรม อย่างไรก็ตามกลยุทธ์การตลาดที่ทางศูนย์ตั้งเป้าไว้ยังคงเน้นการให้ความรู้แก่กลุ่มแพทย์และประชาชนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการคัดกรองตัวอ่อน (PGD-PCR) ให้ปลอดโรคทางพันธุกรรมก่อนการตั้งครรภ์ อาทิ โรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ค่อนข้างใหญ่มากในเอเชีย