“มูลนิธิฯ และซีพีเอฟ ยังคงเน้นการดำเนินโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในโครงการอื่นๆ ด้วย ได้แก่ "โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพสหกรณ์" ด้วยการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่ โดยให้การสนับสนุนทั้งพันธุ์สัตว์ และอาหารสัตว์ รวมทั้งถ่ายทอดเทคนิควิชาการ และการตลาดที่คำนึงถึงตลาดในชุมชนเป็นหลัก โครงการดังกล่าวกลายเป็นหนึ่งในอาชีพของหมู่บ้านสหกรณ์ 7 แห่ง จาก 14 แห่ง, โครงการนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์, โครงการพัฒนาอาชีพพื้นที่ตำบลปากรอ อ.สิงหนคร จ.สงขลา และโครงการครอบครัวอุปการะ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการพัฒนางานเกษตรกรรมอย่างรอบด้าน” นายสุปรี กล่าวเสริม สำหรับโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ซึ่งเป็นโครงการที่ร่วมสนองแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ดำเนินการในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่ห่างไกลและโรงเรียนในสังกัดสพฐ.ทั่วประเทศแล้ว 420 แห่งนั้น ในปี 2556 ได้ตั้งเป้าหมายการขยายให้ครบ 500 โรงเรียน โครงการนี้นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยมูลนิธิฯ มีความร่วมมือกับเครือข่ายที่เข้มแข็งอย่างซีพีเอฟ ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ อาทิ สโมสรโรตารี หอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (JCCB) สามารถช่วยแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเยาวชนได้แล้วกว่า 84,000 คน
ทั้งนี้ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทฯ ได้รับสนองแนวพระราชดำริและดำเนินการตามรอยพระยุคลบาทในการพัฒนาการเกษตรของประเทศและมีการจัดตั้ง "กองทุนเครือเจริญโภคภัณฑ์" ขึ้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2530 เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ในงานพัฒนาสังคมขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ก่อเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทจวบจนปัจจุบัน ในนามของ "มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์" โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการทำความดี 3 ประการ คือ การเป็นคนดี การเป็นพลเมืองดี และการมีอาชีพดี ภายใต้แนวทางการดำเนินงานหลัก 3 ประการ ได้แก่ การพัฒนาคน และส่งเสริมอาชีพ การพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต และการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม