โอกาสในการลงทุนกับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

พุธ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๐๑๒ ๑๔:๕๐
โดย.... คุณวีระ วุฒิคงศิริกูล รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมากลุ่มอาเซียนได้รับการจับตามองมากขึ้นจากเวทีโลก เนื่องจากมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ประเทศในกลุ่มยูโรโซน ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจนับตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2551 และคาดว่าจะทวีความสำคัญมากขึ้น เมื่อกลุ่มอาเซียนกำลังจะรวมตัวกันเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (AEC) ซึ่งการรวมตัวกันส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่สำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลกมากยิ่งขึ้น โดยปัจจัยบวกที่สำคัญของการรวมตัวกันคือตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากภูมิภาคนี้มีประชากรมากถึง 600 ล้านคน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง เนื่องจากเกิดการประหยัดต่อขนาด(Economy of Scale) เกิดขึ้น และด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่หลากหลายของแต่ละประเทศ ทำให้อาเซียนได้ประโยชน์จากการส่งเสริมแหล่งวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตซึ่งกันและกัน เกิดความร่วมมือกันภายในอาเซียน และเป็นการสร้างโอกาสการค้าการลงทุนระหว่างกันมากขึ้นเพราะสามารถย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) หรือเป็นฐานการผลิตร่วมกัน นอกจากนี้ ต้นทุนที่ถูกลงด้านการขนส่งสินค้าย่อมอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ด้านทำเลที่ตั้งของอาเซียนนี้ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นแหล่งดึงดูดการค้า รวมถึงการลงทุนจากนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงหรือเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ASEAN Linkage เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องของผลดีจากการร่วมมือกัน เพราะ ASEAN Linkage นั้นทำให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคนี้มีขนาดของหลักทรัพย์มูลค่าตามตลาด (Market Capitalization) ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 8 ของโลก ทำให้นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจมากขึ้น อีกทั้งด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มเติบโตในระดับที่ดีทำให้คาดว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคนี้ยังคงมีการเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคนี้ยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพในมุมมองของนักลงทุนภายนอกภูมิภาค จึงคาดว่าจะยังมีเม็ดเงินไหลเข้ามายังตลาดหุ้นในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากตลาดหลักทรัพย์แล้ว ความแข็งแกร่ง และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินทำให้โอกาสการลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือเพิ่งปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของอินโดนีเซียให้อยู่ในระดับ Investment Grade ในปีที่ผ่านมา และล่าสุดประกาศปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของฟิลิปปินส์ในเดือนที่ผ่านมา ทิศทางการไหลเข้าของเงินลงทุนจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย มุ่งมาสู่กลุ่ม ASEAN ที่ยังให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าโอกาสในการลงทุนจะเพิ่มขึ้น แต่การลงทุนระหว่างประเทศโดยตรงก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมในหลายๆประเด็นที่จำเป็นต่อการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะเข้าไปลงทุน รวมไปถึงกฎระเบียบที่แตกต่างไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงทุนและภาษี ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การชำระราคาและการส่งมอบหลักทรัพย์ อำนาจการต่อรอง เป็นต้น นอกจากนี้ ในส่วนของนักลงทุนทั่วไปยังมีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนเงินลงทุนที่อาจจะไม่มากพอเป็นอุปสรรคในการลงทุน

จากอุปสรรคและข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในฐานะที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการลงทุนในกลุ่ม ASEAN ได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะการลงทุนผ่านกองทุนรวมจะช่วยผู้ลงทุนลดขั้นตอนการที่ยุ่งยากการลงทุน เนื่องจาก บลจ. มีทีมงานที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ ลดความยุ่งยากของผู้ลงทุนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ในการลงทุนในต่างประเทศ และมีต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำกว่าลงทุนโดยตรง นอกจากนี้การลงทุนผ่านกองทุนยังช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถกระจายการลงทุนได้ดีกว่าการลงทุนเอง เพราะผู้ลงทุนทั่วไปที่มีเงินลงทุนจำกัดอาจจะไม่สามารถกระจายการลงทุนได้มาก แต่ถ้าเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมอย่างเช่น Feeder Fund จะช่วยได้ เพราะกองทุนหลักที่กองทุน Feeder Fund ไปลงทุนนั้นจะมีการกระจายการลงทุนตามน้ำหนักที่เหมาะสมกว่า โดยที่ผ่านมา บลจ. ต่างๆ ได้เริ่มเข้าไปมีบทบาทในการลงทุนในกลุ่มประเทศ ASEAN บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนเองโดยตรง หรือกองทุนประเภท Feeder Fund หรือ Fund of Funds ก็ตาม

ในส่วนของ บลจ. กรุงไทย (KTAM) ในฐานะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่เป็นผู้นำในการออกผลิตภัณฑ์กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ ETFs ที่มีการเชื่อมโยงกับการลงทุนในอาเซียนอย่างกองทุนเปิดเคแทม โกลด์ อีทีเอฟ แทร็กเกอร์ (GLD) รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนประเภท Term Fund ที่มีการลงทุนทั้งเงินฝากและตราสารหนี้ในบางประเทศในกลุ่ม ASEAN เช่น เงินฝากและตราสารหนี้ของสถาบันการเงินในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในไทย ภายใต้ระดับความเสี่ยงของผู้ออกตราสารที่ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าการลงทุนในไทย ถือว่า KTAM มีบทบาท และมีการเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะเสนอตัวเป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนในอาเซียนของนักลงทุนในประเทศ ซึ่งในปีหน้า KTAM มีแผนที่จะร่วมมือกับบริษัทจัดการชั้นนำระดับโลกเพื่อออกกองทุน Feeder Fund ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดตราสารทุนของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนของนักลงทุนที่ต้องการเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในตลาดตราสารทุนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นอกเหนือจากการลงทุนในตลาดตราสารทุนไทยเพียงอย่างเดียว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๙ ผู้ถือหุ้น READY อนุมัติปันผล อัตรา 0.30 บาทต่อหุ้น ปักธงปี 68 รายได้โต 10% เติบโตตามเทรนด์การตลาดยุคดิจิทัล
๑๗:๐๗ JMART เตรียมเงินพร้อมคืนหุ้นกู้ 1,500 ล้านบาท ตอกย้ำเสถียรภาพการเงินปิดจ๊อบหุ้นกู้ 856.6 ล้านบาท ขอบคุณนักลงทุนที่เชื่อมั่น
๑๗:๓๗ Lorde เซอร์ไพรส์! ส่งเพลงใหม่ในรอบ 4 ปี What Was That พร้อมเอ็มวีแนว Vlog สุดเท่ ซีนยิ่งใหญ่แฟนเพลงรวมตัวกว่า 8,000
๑๗:๐๔ Kenny G คัมแบ็ค!! ชวนแฟน ร่วมดื่มด่ำสุนทรียภาพดนตรีแจซระดับโลกอีกครั้ง ใน Kenny G Live in Bangkok 2025 เปิดแสดง 4 กรกฎาคม
๑๗:๒๓ เปิดประตูสู่อนาคตไอที รำไพพรรณี MOU นครระยองวิทยาคมฯ สร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่
๑๗:๐๘ JGAB 2025 เวทีอัญมณีและเครื่องประดับอาเซียนระดับโลก ดันไทยสู่ศูนย์กลางการค้าและนวัตกรรมเครื่องประดับอย่างยั่งยืน
๑๗:๐๒ อ.อ.ป. ร่วมยินดี อคส. ครบรอบ 70 ปี
๑๗:๓๗ กองทรัสต์อัลไล เดินหน้าขยายพอร์ต เตรียมลงทุน! 2 โครงการใหม่ ทีเท็น บาย วิลเลจ ฮับ และ วิลเลจ ฮับ สายไหม โครงการคอมมูนิตี้มอลล์บนทำเลศักยภาพ
๑๗:๓๕ Bangkok Climate Action Week (BKKCAW) รวมพลังคนกรุง สู้วิกฤตโลกร้อน
๑๗:๓๑ Sherwood Corporation จับมือ Conquest Crop Protection Pty Ltd ขยายช่องทางสู่ตลาดเคมีเกษตรในออสเตรเลีย