สมาคมการค้ายาสูบไทยวอนกระทรวงสาธารณสุขพิจารณายุติแผนการควบคุมการบริโภคยาสูบชนิดสุดโต่งซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาร่างในขณะนี้ โดยร่างพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับล่าสุดจะสร้างภาระอย่างมากให้แก่ภาคธุรกิจค้าปลีก ทำให้รายได้ร้านค้าลดลงและส่งผลกระทบต่ออาชีพของผู้ประกอบการร้านค้าปลีกขนาดย่อย
นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวว่า “สมาคมการค้ายาสูบไทยและสมาชิกของเรากว่า 1,300 ราย ทั้งจากกลุ่มผู้ค้าปลีกผลิตภัณฑ์ยาสูบ ผู้ค้าส่ง และผู้จัดจำหน่ายจากทั่วประเทศไทย มีความกังวลเป็นอย่างมากต่อร่างกฎหมายฉบับนี้เนื่องจากมีเนื้อหากว้างมากเกินไป คลุมเครือ และให้อำนาจกับกระทรวงสาธารณสุขในการออกกฎระเบียบในภายหลังโดยไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนหรือผ่านกระบวนการตรวจสอบกลั่นกรองของรัฐสภา”
“บทบัญญัติ อาทิ การบังคับให้ร้านค้าปลีกจัดส่งรายงานประจำปีให้แก่คณะกรรมการอำนวยการ การควบคุมอายุของผู้ขาย กำหนดให้ร้านค้าต้องแสดงสื่อรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ภายในร้าน หรือการจำกัดการแสดงราคาขายของผลิตภัณฑ์ยาสูบนั้น จะก่อให้เกิดภาระในการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายของร้านค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนั้น ร่างกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบยังจะห้ามร้านค้าปลีกรายใหญ่เข้ามาเป็นพันธมิตรในการทำกิจกรรมการกุศลเพื่อสังคมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่นการให้การสนับสนุนความช่วยเหลือเมื่อเกิดวิกฤตอุทกภัยอีกด้วย” นางวราภรณ์ กล่าวเสริม
ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบที่เป็นร้านค้าปลีกทั่วประเทศ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยบริษัทอิปซอสส์ (ไทยแลนด์) ในนามสมาคมการค้ายาสูบไทย ชี้ให้เห็นว่าร้านค้าปลีกกว่าร้อยละ 78 เชื่อว่ามาตรการควบคุมยาสูบแบบสุดโต่งนี้จะส่งผลเสียหายให้แก่ธุรกิจร้านค้า อีกทั้ง ร้อยละ 72 ของร้านค้าปลีก คิดว่ารัฐบาลควรเน้นเรื่องการศึกษาให้มากขึ้นให้ความรู้ มากกว่าจะนำเสนอร่างกฎหมายใหม่ นอกจากนี้ ร้อยละ 50 มีความเห็นว่าการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายฉบับปัจจุบันที่มีอยู่แล้วน่าจะเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการลดอัตราการสูบบุหรี่
นางวราภรณ์ยังได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า “ในช่วงเวลาที่ร้านค้าปลีกคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะถดถอยในปีหน้า ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการผ่านร่างกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบอันมีค่าใช้จ่ายสูงที่จะส่งผลร้ายต่อธุรกิจค้าปลีก ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถช่วยลดอัตราการบริโภคยาสูบได้เลย หรือได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น รัฐบาลควรมุ่งเน้นพัฒนามาตรการที่มีข้อพิสูจน์อย่างแท้จริงว่าสามารถช่วยลดอัตราการบริโภคยาสูบได้ อย่างเช่นการให้ความรู้หรือการบังคับใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่อย่างเคร่งครัดมากขึ้น”
นอกจากนี้ ร่างกฎหมายที่รัฐบาลนำเสนอจะเป็นการนำไปสู่การบังคับใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ ซึ่งหมายถึงการห้ามแสดงเครื่องหมายที่สื่อถึงแบรนด์ใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายการค้า โลโก้ สี และกราฟิกต่างๆ โดยบนซองผลิตภัณฑ์ยาสูบจะมีเพียงแค่ชื่อยี่ห้อซึ่งใช้ตัวอักษรแบบมาตรฐานเหมือนกันหมดทุกซอง
โดยกลุ่มผู้ค้าปลีกเชื่อว่ามาตรการซองบุหรี่แบบเรียบนี้จะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อธุรกิจของพวกเขา รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการค้าของเถื่อนในอุตสาหกรรมยาสูบ ผลเสียต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการซองบุหรี่ยังรวมถึง
ผู้ค้าปลีกร้อยละ 82 เชื่อว่าการดำเนินงานในร้านค้าในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการสั่งสินค้า การจัดเก็บสินค้า และการให้บริการลูกค้าจะมีความซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้นผู้ค้าปลีกร้อยละ 84 เชื่อว่าซองบุหรี่แบบเรียบที่มีลักษณะเหมือนกันหมดจะทำให้ง่ายต่อการปลอมแปลง ส่งผลให้มีผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ปลอมแปลงและสินค้าเลียนแบบเพิ่มมากขึ้นผู้ค้าปลีกร้อยละ 82 เชื่อว่าซองบุหรี่แบบเรียบจะทำให้มีการลักลอบนำบุหรี่ที่มียี่ห้อเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยมากขึ้น“ณ ขณะนี้ รัฐบาลได้ใช้กฎหมาย ข้อกำหนด และกฎระเบียบกว่า 47 ประการซึ่งมุ่งเป้าไปที่การควบคุมยาสูบ จึงเห็นได้ชัดว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ ในการออกกฎหมายเพิ่มเติม ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลควรมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาการให้ความรู้และการบังคับใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่จะเป็นการดีกว่า” นางวราภรณ์ กล่าวสรุป
ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ จัดทำขึ้นโดยบริษัทอิปซอสส์ (ไทยแลนด์) บริษัทวิจัยชั้นนำของโลกและเป็นสมบัติของสมาคมการค้ายาสูบไทย ผลสำรวจนี้จัดทำผ่านกระบวนการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในกลุ่มเจ้าของกิจการร้านค้าปลีก และผู้จัดการประจำร้านจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,000 รายทั่วประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 24 กันยายน 2555 ถึง 14 ตุลาคม 2555
สมาคมการค้ายาสูบไทยเป็นสมาคมที่ก่อตั้งขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 โดยมีวัตถุประสงค์ในการสะท้อนมุมมองและความคิดเห็นของผู้ค้าปลีก ผู้ค้าส่ง ผู้จัดจำหน่าย ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ ในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาสูบ ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ทางเว็บไซต์ http://www.ttta.or.th
สำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ 124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง โทร 0 2 718 1886
กฤติยา นนทะนาคร [email protected] ต่อ 226
นิรชา รื่นเริง [email protected] ต่อ 150