นายสมชาย กล่าวอีกว่า ในความเป็นจริงแล้วจะโทษสื่อเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ฉะนั้นจะต้องมีแนวทางสร้างภูมิคุ้มกันให้มีความเข้มแข็งขึ้นในสังคม โดยกำหนดไว้ 7 ด้าน ได้แก่ 1.สถาบันครอบครัว จะต้องได้รับบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันให้กับคนในครอบครัว 2.สถาบันการศึกษา ถือเป็นการสร้างวัคซีนที่จะทำให้บุคคลธรรมดาได้รับการพัฒนาให้มีความพร้อมสำหรับการอยู่ร่วมในสังคมร่วมกับคนอื่นๆ 3.สถาบันศาสนา ที่จะต้องทำหน้าที่อบรมเรื่องจิตวิญญาณของคนให้มีวุฒิภาวะ สามารถนำความรู้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง 4.สื่อมวลชน เป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ เพราะมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างบุคลิกของคนในสังคม เช่น ภาพยนตร์บางเรื่องที่นำมาสร้างหลายๆครั้ง ก็จะทำให้สังคมเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นมาอย่างไร 5.องค์กรธุรกิจเอกชน ซึ่งมีส่วนสนับสนุนรายการโทรทัศน์ที่ปรากฎอยู่ทุกวันนี้ บางองค์กรฝ่าฝืนจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ แล้วไม่ยอมรับ ฉะนั้น จะต้องใช้มาตรการทางสังคมที่จะจัดการกับเรื่องดังกล่าว 6.ระบบราชการ ที่ต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลางทำให้สังคมเกิดความสมดุล และ7.ภาคประชาสังคม หรือชุมชนจะต้องเข้ามามีบทบาทรในการแก้ปัญหาสังคมด้วย ดังนั้น สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญต่อการดำเนินการให้สังคมได้มีระเบียบความสัมพันธ์อย่างเหมาะสม
“เวทีในวันนี้ถือเป็นเวทีเริ่มแรก ซึ่งผมอยากให้เป็นคลื่นที่จะขับเคลื่อนให้เกิดพลังสังคมในการจัดการกับสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนการใช้สื่อในการสร้างสรรค์นั้น กฎหมายไม่ใช่เครื่องมือเดียวที่จะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ พลังสังคมต่างหากเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างแรงกระเพื่อมต่อการจัดการเรื่องนี้ ผมอยากให้ทุกภาคส่วนในสังคมใช้เวทีนี้ เพื่อสร้างกระแสสังคมให้มีการตระหนักรู้และรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการต่อสื่อที่ไม่เหมาะสม และส่งเสริมพื้นที่สื่อที่เหมาะสมให้มีมากขึ้น”ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว