เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเดือนพระราชสมภพ ธันวาคม 2555 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้ร่วมกับโอเปร่าสยาม จัดการแสดงมหาอุปรากร The Silent Prince (เตมีย์ใบ้) รอบปฐมทัศน์พิเศษครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 5 ธันวาคม นี้ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเป็นโอกาสพิเศษสุดที่ผู้ชมชาวไทยจะได้สัมผัสกับสุนทรียะทางดนตรีในรูปแบบศิลปะการแสดงชั้นสูง ที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของพระโพธิสัตว์จากทศชาติชาดกอันแฝงคติธรรมได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่ผู้สนใจเข้าชมต้องรีบจองบัตรรอบกาล่าโดยด่วน เพราะหากพลาดรอบนี้จะต้องรอเดือนมิถุนายนปีหน้า
มหาอุปรากรเรื่อง The Silent Prince (เตมีย์ใบ้) โดย ไมสโตร สมเถา สุจริตกุล ศิลปินศิลปาธร กิตติคุณ ได้เปิดแสดงรอบปฐมทัศน์ระดับโลกในปี 2553 ณ เมืองฮุสตัน มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ถือเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้ทำการแสดงรอบปฐมทัศน์มหาอุปรากรระดับนานาชาติในเมืองหลวงมหาอุปรากรระดับโลกแห่งหนึ่ง ซึ่งการแสดงในครั้งนั้นได้รับการต้อนรับจากผู้ชมอย่างดียิ่ง มีผู้เข้าชมเต็มทุกที่นั่งและได้รับการวิจารณ์อย่างดีจากสื่อมวลชนทั่วโลก
ในขณะที่ผู้ชมชาวไทยได้รอคอยการแสดงมหาอุปรากรโดยคีตกรชาวไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมและโอเปร่าสยาม มีความยินดีที่จะจัดการแสดงมหาอุปรากร The Silent Prince (เตมีย์ใบ้) ขึ้นในประเทศไทย ในวันที่ 5 ธันวาคม นี้ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันพระราชสมภพ การแสดงรอบพิเศษรอบกาล่านี้จัดขึ้นรอบเดียวสำหรับแขกพิเศษที่ได้รับเชิญเท่านั้น ผู้ที่พลาดการแสดงในรอบพิเศษสามารถเข้าชมการแสดงในวันวิสาขบูชา เดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งจะเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม
The Silent Prince (เตมีย์ใบ้) ประพันธ์ดนตรี และคำร้องโดย ไมสโตร สมเถา สุจริตกุล ซึ่งผู้ประพันธ์ได้นำเตมิยชาดก จากทศชาติชาดกที่กล่าวถึง 10 ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ ก่อนเสวยพระชาติเป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ต้องทรงเลือกระหว่างการเอาชีวิตผู้อื่นหรือการเป็นบุตร ที่ไม่เคารพเชื่อฟังพระเจ้ากาสิกราช พระราชบิดา เพื่อหลีกหนีการตัดสินใจ พระเตมีย์จึงเสด็จเข้าสู่โลกแห่งความเงียบ ทรงออกมาปรากฏพระองค์ในฉากสุดท้ายในความอลังการแห่งแดนสวรรค์เพื่อแสดงสัจธรรมและปลดปล่อยความทุกข์ของพระบิดามารดาและเผยตนเป็นพระโพธิสัตว์
กรุงพาราณสีในตำนานเป็นฉากการแสดงของมหาอุปรากรเรื่อง “เตมีย์ใบ้” การแสดงใช้ภาพเสียงและแสงสีตระการตาเป็นการดำเนินเรื่องเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่สวรรค์ นรก และโลกมนุษย์ มีฉากเทวดาปรากฏตนให้เห็นจากความมหัศจรรย์ นางฟ้านำโพธิสัตว์ตอนเป็นเด็กลงมาจากสวรรค์ และวิญญาณจากนรกมาหลอกหลอนพระเตมีย์ในขณะที่กำลังระลึกชาติ
ความท้าทายอันยิ่งใหญ่อันหนึ่งของเรื่อง ”เตมีย์ใบ้” นี้คือการแสดงมหาอุปรากรที่ตัวแสดงเป็น “พระเตมีย์ใบ้” จะไม่ร้องเพลงจนกระทั่งช่วงห้านาทีสุดท้าย “ผมต้องทำให้ผู้ชมประหลาดใจและกระโดดโลดเต้นเมื่อพระพุทธเจ้าได้เปล่งวาจาออกมาในที่สุด” ไมสโตร สมเถา ศิลปินศิลปาธรกิตติคุณ กล่าว “ดังนั้น ผมจึงเขียนบทนี้สำหรับนักร้องโอเปร่าชายที่มีเสียงเป็นเอกลักษณ์หายากมากที่สุด” เป็นที่โชคดีว่าประเทศไทยมีคุณจักร ชลวิจารณ์ นักร้องเสียงโซปราโนซึ่งมีความสนใจศึกษาเรื่องศาสนาพุทธด้วย ซึ่งมีเสียงที่ไม่เหมือนใครในโลกนี้”
นักแสดงเรื่องนี้ได้รับการคัดเลือกมาจากนักแสดงนำจากสี่ทวีปรวมทั้งนักแสดงโอเปร่าชั้นนำของประเทศไทย การแสดงครั้งนี้มีคณะนักร้องประสานเสียงชุดใหญ่และนักแสดงเดี่ยวชั้นนำ อำนวยเพลงโดยทฤษฎี ณ พัทลุง วาทยกรหนุ่มผู้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ คีตกวีสมเถา กำกับการแสดงซึ่งออกแบบโดย Dean Shibuya ศิลปินนานาชาติที่ได้รางวัลระดับโลกและเป็นผู้ออกแบบการแสดงเรื่อง “เรยาเดอะมิวสิคัล” ที่เพิ่งจบการแสดงไปเมื่อเร็วๆนี้ด้วย มีนักแสดงประมาณหนึ่งร้อยคนร่วมแสดงในครั้งนี้รวมทั้งนักเต้น นักร้อง และนักดนตรี
นักแสดงคนอื่นประกอบด้วย นาทลดา ธรรมธนาคม นักร้องโซปราโนไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในระดับนานาชาติ นักร้องผู้นี้ได้เปิดการแสดงในโรงละครมหาอุปรากรทั่วทั้งยุโรป Grace Echauri ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในบทของ “คาร์เมน” จะแสดงในบทของ”จันทราเทวี ราชินีแห่งกรุงพาราณสี” และ Kyu Won Han ผู้เป็นที่รู้จักกันในเมืองไทยในบทของ “มาก” จากมหาอุปรากรของสมเถาในเรื่อง “แม่นาก” ซึ่งได้เแสดงทั้งในกรุงลอนดอนและประเทศไทย นักร้องเสียงเบส John Ames แสดงเป็นเทวดาอินทรา ซึ่งเป็นการยกระดับการแสดงจากครั้งสุดท้ายที่เคยแสดงในเมืองไทยเป็นตัวโกงเจ้าแห่งยักษ์ทศกัณฐ์
การแสดงมหาอุปรากร เรื่อง “เตมีย์ใบ้” มีเค้าโครงจากเตมิยชาดก โดยเสนอคำสอนของศาสนาพุทธผ่านเสียงดนตรีที่ทุกคนเข้าถึงได้และเป็นสื่อที่ทรงพลังในการเปิดวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ตัวอย่างคำวิจารณ์ที่มหาอุปรากรเรื่อง”เตมีย์ใบ้”
- “ดนตรีและเนื้อเพลงซึ่งประพันธ์โดยไมสโตร สมเถา สุจริตกุล นั้นเต็มไปด้วยอารมย์และความสุนทรียภาพที่ดึงดูดใจ” นักวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์เดอะฮุสตัน โครนิคัลกล่าว โดยให้รายละเอียดว่าการผสมผสานดนตรีพื้นบ้านต่างๆของอินเดียในอุปรากรเรื่องนี้ทำให้อุปรากรเรื่องนี้มีความโดดเด่น
- การแสดง “ประทับใจและน่าทึ่ง” และอธิบายว่า “การแสดงคงความรู้สึกลี้ลับและแฝงไว้ด้วยเรื่องจิตวิญญาณตลอดเวลา การเรียบเรียงดนตรีสำหรับเล่นในวงออเคสตร้าของไมสโตร สมเถาเต็มไปด้วยความรู้สึกสวยงามเป็นผลงานชั้นยอดที่เต็มไปด้วยความหมายและจะอยู่ในความทรงจำของผู้ชม”
“สมเถาลบล้างความเข้าใจผิดๆว่าอุปรากรร่วมสมัยนั้นยากที่จะเข้าใจและไม่ปราณีต” Joel Luks กล่าววิจารณ์ในเว็บไซด์ Culture Map
มหาอุปรากรเรื่อง ”เตมีย์ใบ้” การแสดงมหาอุปรากรโดยคีตกรชาวไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก การแสดงที่คนไทยเฝ้ารอคอยมานานจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้รับการเอื้อเฟื้อสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) โรงแรมสยามเคมปินสกี้ และสถานเอกอัครราชทูตเม็กซิโก ประจำประเทศไทย
เนื่องจากมหาอุปรากร เรื่อง “เตมีย์ใบ้” ในวันที่ 5 ธันวาคม 2555 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เปิดแสดงให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมโดยไม่มีการจำหน่ายบัตร แต่จะมีการออกบัตรเชิญตามจำนวนที่นั่งที่มี ผู้สนใจโปรดติดต่อขอรับบัตรได้ที่มูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 231-5273 (089) 136-9981 (087) 077-0071 หรือ อีเมล์ [email protected] พร้อมนามของท่าน หมายเลขติดต่อ และจำนวนบัตรที่ต้องการ
โปรดทราบว่างานแสดง เรื่อง Requiem for the Mother of Songs ครั้งล่าสุดของ ไมสโตร สมเถา สุจริตกุล ศิลปินศิลปาธรกิตติคุณ นั้น มีการขอบัตรเข้าชมเป็นจำนวนถึง 8,000 ที่นั่ง โดยที่มีที่นั่งเพียงแค่ 3,600 สำหรับที่นั่งในสองรอบ ดังนั้น ท่านผู้สนใจเข้าชมแสดงมหาอุปรากร เรื่อง “เตมีย์ใบ้” พิเศษรอบกาล่า ในวันที่ 5 ธันวาคม 2555 กรุณารีบสำรองที่นั่งด่วน