นายวีรพงษ์ กล่าวว่า เห็นได้ว่าประเด็นที่เยาวชนร่วมกิจกรรมค่ายอาสาฯ จะทำอย่างต่อเนื่องเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง แต่ต้องใช้เวลาค้นคว้า ลงพื้นที่ สำรวจผลกระทบอย่างรอบด้าน พร้อมกับใช้ทักษะออกแบบกิจกรรมเพื่อให้เกิดการถ่ายโอนความรู้ระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับตัวนักศึกษาเอง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะทำให้เยาวชนเข้าใจสังคมที่เป็นจริง มีมุมมองที่เชื่อมโยงบริบทต่างๆของปัญหา และเลือกที่จะใช้ความสามารถที่มีร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาได้
นายโชคนิธิ คงชุ่ม นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล จ.กาญจนบุรี ผู้รับผิดชอบโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยังยืน โครงการค่ายอาสาฯ กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 10 - 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ 2 แห่ง คือ เขาใหญ่และห้วยเขย่ง จ.กาญจนบุรี เพื่อทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และรณรงค์ให้ชาวบ้านงดใช้สารเคมีในการเพาะปลูก โดยการทำงานในประเด็นกิจกรรมเช่นนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาเพียงการห้ามปรามการใช้สารเคมีเท่านั้น แต่ต้องอธิบายให้ได้ถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ประโยชน์ระยะยาว และการหาวิธีการทดแทนศักยภาพของสารเคมีไปพร้อม ๆ กัน เช่นเดียวกับร่วมจุดประกายให้เยาวชนในพื้นที่ตั้งกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนางานเองให้เกิดความยั่งยืน