ผลการดำเนินงานของหอการค้าภายใต้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของหอการค้า ที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2552 ได้แก่โครงการยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ โครงการลดความเหลื่อมล้ำผ่านโครงการ 1 ไร่ 1 แสน 1 บริษัท 1 ชุมชน และโครงการการต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น
ทั้ง 3 โครงการดังกล่าวนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจของสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ ที่ได้มีการผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากการจัดทำยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของหอการค้าไทย
นอกจากยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของหอการค้าแล้ว หอการค้ายังได้มีการดำเนินโครงการลดความเหลื่อมล้ำอันประกอบด้วยโครงการ 1 ไร่ 1 แสน และโครงการ 1 บริษัท 1 ชุมชน เพื่อสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เข้มแข็งและมั่นคงและสิ่งที่หอการค้าไทยมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งคือการได้เป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นในปีนี้หอการค้าไทยยังดำเนินโครงการทั้ง 3 อย่างต่อเนื่องและเราได้ตระหนักถึงความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงของโลกท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่จบสิ้นดังนั้นหอการค้าไทย จึงเห็นว่า การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจจะเป็นทางออกของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และเป็นภูมิคุ้มกันตลอดไป การสัมมนาในปีนี้ จึงใช้หัวข้อว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและสมดุล: ทางออกของสังคมโลก”
ที่ประชุมได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ JIGMI THINLEY นายกรัฐมนตรีของประเทศภูฏาน ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องจากนานาชาติในการพัฒนาประเทศโดยใช้ความสุขมวลรวมของประชาชนเป็นตัววัด มาบรรยายในหัวข้อ “ภูฎาน: การพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH)”โดยกล่าวว่า ทรัพยากรของโลกที่มีเหลือเฟือไม่มีอีกแล้ว โลกของเรากำลังจะตายลง ระบบนิเวศน์กำลังล่มสลายเพราะการพัฒนาที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP เป็นที่ตั้ง แต่ภูฏานมุ่งเน้นความสุขของประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเศรษฐกิจ ตั้งแต่เกิดจนถึงการตายอย่างอบอุ่นและมีความสุข ซึ่งแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจของภูฏานมี ความคล้ายคลึงกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ฟังการบรรยายในหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาให้มีการเจริญเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน ภายใต้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง: ทางออกของสังคมโลก” จาก ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ซึ่งกล่าวว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางออกของโลกเพราะเห็นว่ารูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบันนั้นไม่สามารถสร้างการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน ซ้ำร้ายยังใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย เราควรมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาในระยะยาว
(Long Termnism) ด้วยการตระหนักถึงการเติบโตโดยการใช้ทุนทางธรรมชาติ (Natural Capital) อย่างรอบคอบ (prudent)
ทั้งนี้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการ อันได้แก่ ความพอประมาณ การมีเหตุมีผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ซึ่งหลักการทั้ง 3 จะตั้งอยู่บน 2 เงื่อนไขที่สำคัญ คือ การมีความรู้ และการมีคุณธรรม หรือที่เรารู้จักกันดีคือ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ดังนั้น การประชุมกลุ่มย่อยของหอการค้าไทยในครั้งนี้จึงได้ยึดตามหลักการดังกล่าว โดยได้มีการแบ่งกลุ่มในการสัมมนาออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และสมดุล
กลุ่มที่2 การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในการรองรับการเปลี่ยนแปลง
กลุ่มที่ 3 การส่งเสริมองค์ความรู้ และคุณธรรม
ซึ่งในแต่ละกลุ่ม มีข้อสรุปและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
สรุปผลกลุ่มที่ 1
1. หอการค้าไทยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง
2. หอการค้าไทยควรผลักดันให้เกิดการทำงานและใช้งบประมาณแบบบูรณาการ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นการขุดถนน ร้อยสายโทรศัพท์ วางท่อประปา และสายไฟฟ้า เป็นต้น
3. การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุล
4. การใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ (demand side) หรือนโยบายประชานิยม เป็นนโยบายที่ส่งเสริมการเพิ่มอำนาจซื้อภายในประเทศเพียงชั่วคราว จึงควรดำเนินการในระยะสั้นเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อฐานะการเงินของประเทศ
5. หอการค้าชื่นชมรัฐบาลที่แสดงความตั้งใจผลักดันให้มีการขนส่งคนและสินค้าโดยระบบราง และได้วางแผนจัดสรรงบประมาณหลายแสนล้านบาทในการดำเนินการ ดังนั้น ที่ประชุมสนับสนุน การใช้งบประมาณลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (supply side)
สรุปผลกลุ่มที่ 2
สำหรับการประชุมในกลุ่มที่ 2 ที่ประชุมมีความเห็นว่า การบริหารของภาครัฐที่อ่อนแอและไม่ต่อเนื่องการขาดความสามัคคีของคนในชาติ การเสื่อมถอยของค่านิยมที่ดีงามและการคอรัปชั่น เป็นความเสี่ยงสูงสุดของประเทศไทยในขณะนี้
ทางออกของการสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศในการรองรับการเปลี่ยนแปลง คือ การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยดำเนินการ 4 เรื่อง
1. พัฒนาคนให้มีคุณภาพ ผ่านการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ และเรียนภาษาที่ 3 เพิ่มเติม
2. สร้างความสามัคคีของคนในชาติ
3. พึ่งพาตนเองให้มากขึ้น
4. สร้างสมดุลของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
สรุปผลกลุ่มที่ 3
สำหรับการประชุมในกลุ่มที่ 3 ที่ประชุมมีความเห็นว่า การส่งเสริมองค์ความรู้ควรดำเนินการดังนี้
1. ควรปฏิรูปการระบบการศึกษาไทยที่ให้คุณค่ากับการเรียนรู้ในทุกรูปแบบไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะปริญญา
2. ภาคการศึกษาควรผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะช่างฝีมือ
3. ให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพครู
4. ที่ประชุมให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเพิ่มผลิตภาพและทักษะของแรงงานเพื่อที่จะรองรับค่าแรงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานการครองชีพ
การส่งเสริมคุณธรรม ควรดำเนินการดังนี้
1. ช่วยกันปลูกจิตสำนึกให้คนไทยมีคุณธรรม และจริยธรรม
2. ภาคเอกชนจะต้องเข้าร่วมปฏิญาณการต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบ