ทั้งนี้ เพื่อกำหนดพิจารณาหลักเกณฑ์พิจารณาคุณสมบัติ ของผู้ประกอบธุรกิจที่ขอรับตราสัญลักษณ์คุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Protection Guarantee) โดยมี ผู้ประกอบธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา สมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา สมาคมผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนนอกระบบ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ประมาณ 400 คน ร่วมกิจกรรมครั้งนี้
นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ รักษาการเลขาธิการ สช.กล่าวว่า การจัดระเบียบโรงเรียนกวดวิชา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครอง และนักเรียน ในการเข้ารับบริการด้านวิชาการ ตามที่ตั้งใจและตามที่เห็นในโฆษณา ที่โรงเรียนแต่ละแห่งแจ้งไว้ เช่น โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนสอนขับรถยนต์ โรงเรียนเสริมสวย โรงเรียนสอนนวดหรือสปา โรงเรียนสอนภาษา โรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนเอกชนในระดับสามัญ ทั่วประเทศมีมากกว่า 1 หมื่นแห่ง ตั้งอยู่ในกรุงเทพกว่าพันแห่ง โดยดำเนินการนำร่องโรงเรียนกวดวิชาในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อน จำนวนกว่า 400 แห่ง ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดได้มาตรฐานตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ซึ่งต้องได้รับอนุญาตหลักสูตรก่อนเปิดสอน และไม่มีข้อร้องเรียนจนเกิดความไร้มาตรฐานขึ้น
จากนั้น จะขยายผลไปยังจังหวัดใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี โดยให้เขตพื้นที่การศึกษาดูแล เพื่อให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้รับความคุ้มครอง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เกิดความเชื่อมั่นทั้งต่อผู้ใช้บริการและความมั่นคงของธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาด้วย..
ด้านนายจิรชัย มูลทางโร่ย เลขาธิการ สคบ กล่าวถึงขั้นตอนในการมอบตราสัญลักษณ์ ให้กับโรงเรียนกวดวิชา เพิ่มเติมว่า เริ่มจากกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์จาก สคบ. จากนั้นทำความเข้าใจกับโรงเรียนกวดวิชา รับสมัครโรงเรียนเข้าร่วม มีคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติว่าเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ จึงจะสามารถมอบตราฯ ได้
สำหรับหลักเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ การตรวจสอบว่าโรงเรียนกวดวิชานั้นมีการขออนุญาตประกอบการตามกฎหมายทุกด้าน มีการเสียภาษีต่างๆ ครบถ้วน และดำเนินการตามคำโฆษณาที่ให้ไว้กับนักเรียนหรือผู้ปกครองหรือไม่ หากครบตามเงื่อนไข ก็สามารถมอบตราสัญลักษณ์ได้ ในกรณีที่ผิดเงื่อนไข หรือเกิดความเสียหายขึ้น จะมีการแสดงความรับผิดชอบ เยียวยาหรือชดเชยความเสียหาย โดย สคบ.ได้วางแนวทางไว้ 3 กรณี คือ ให้ธนาคารที่รับรองโรงเรียนกวดวิชานั้นรับผิดชอบ ให้กองทุนที่ตั้งขึ้นเยียวยา หรือใช้ระบบประกันภัยในการชดเชยค่าเสียหาย
“ไม่ได้มุ่งหวังว่าจะให้โรงเรียนกวดวิชาต้องรับผิดชอบด้วยการเยียวยา แต่เป็นการจัดระเบียบให้มีการดำเนินการที่ถูกต้อง ทั้งตามกฎหมายและจริยธรรม ลูกหลานที่ผู้ปกครองส่งเข้าไปเรียนมีความปลอดภัย ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือละเมิดสิทธิ์ โดยจะขยายผลไปยังโรงเรียนเอกชนอื่นๆ ด้วย เช่น โรงเรียนสอนขับรถยนต์ โรงเรียนสอนดนตรี ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีข้อมูลอยู่แล้ว ”
ท้งนี้ ตราสัญลักษณ์คุ้มครองผู้บริโภค เป็นโครงการที่ริเริ่มโดย สคบ. ในการนำระบบประกันภัยมาสนับสนุนกระบวนการชดเชยและเยียวยาผู้บริโภคจากการบริโภคสินค้าและบริการที่ไม่เป็นธรรม ให้เกิดความรวดเร็ว ปัจจุบันเปิดให้ผู้ประกอบการกลุ่มนำร่อง เข้าร่วมผ่านสำนักงาน สคบ. และทางเว็บไซด์ www.ocpb.go.th